กินอาหารบำรุงตับในทุกวัน ดีกว่าปล่อยให้สุขภาพตับพัง แล้วต้องรักษาทีหลัง เพราะจะทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เป็นโรคต่างๆ ง่าย มาดูว่าควรเลือกกินอาหารอย่างไรให้ตับแข็งแรง

การบำรุงตับสำคัญอย่างไร

ตับ ทำหน้าที่ขับของเสียและสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกาย และทำหน้าที่เปลี่ยนอาหารที่เรากินไปเป็นพลังงาน และดึงสารอาหารเพื่อนำไปบำรุงส่วนต่างๆ ของร่างกาย1

หากตับของเราเกิดความเสียหาย หรือเกิดตับวายขึ้นมา อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายลดลง และถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น การดูแลบำรุงตับให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการระมัดระวังเรื่องการรับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย และเลือกกินอาหารที่ดีต่อตับ

9 อาหารบำรุงตับ เพื่อสุขภาพตับที่แข็งแรง

การดูแลตับให้ทำงานได้เป็นปกติ จะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงไปด้วย ซึ่งการเลือกกินอาหารบำรุงตับ และผักผลไม้บำรุงตับ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคตับ และส่งผลให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตัวอย่างของอาหารที่จะบำรุงตับให้แข็งแรงขึ้นได้ มีดังนี้

1. บรอกโคลี

บรอกโคลีมีไฟเบอร์ที่ส่งผลดีต่อตับ มีส่วนช่วยในการบำรุงตับที่คนรักสุขภาพต้องรู้ เพราะมีพฤษเคมี (phytochemicals) และสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ที่อาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งตับได้ บางงานวิจัยยังบอกอีกด้วยว่า บรอกโคลีช่วยป้องกันการเกิดโรคไขมันพอกตับได้ ไม่เพียงเท่านั้น บรอกโคลียังมีส่วนช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้อีกด้วย 

อีกทั้งงานวิจัยยังชี้ว่าสสารในบรอกโคลี จะเข้าไปเกาะกับกรดน้ำดีในลำไส้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับของเสีย และป้องกันไม่ให้กรดน้ำดีถูกนำไปใช้ซ้ำ ดังนั้น บรอกโคลีจึงเหมาะที่จะนำไปทำเมนูอาหารที่บำรุงตับ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานของตับให้ทำงานได้เป็นปกติ6

2. ชะเอมเทศ

ชะเอมเทศเป็นอาหารต้านไวรัส และเป็นอาหารแก้ตับอ่อนอักเสบ เพราะมีส่วนประกอบของไกลเซอร์ไรซินที่ช่วยปกป้องตับจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันภาวะไขมันสะสมในตับ หรือโรคตับคั่งไขมันที่มีภาวะตับอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุสู่การเกิดมะเร็งตับ หรือโรคตับแข็งได้2

3. สารสกัดจากเมล็ดองุ่น

สารสกัดจากเมล็ดองุ่น หรือ Grape seed extract (GSE) เป็นอาหารเพื่อตับ ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยคลายความเครียด ลดการอักเสบ หรือความเสียหายของเนื้อเยื่อที่เกิดพร้อมกับโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่ง Alanine Aminotransferase (ALT) เป็นเอนไซม์ที่พบในเซลล์ตับ ทำหน้าที่บ่งบอกการทำงานของตับ หากค่า ALT สูง ก็หมายความว่าตับได้รับความเสียหาย โดยมีการทดลองให้ผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับจำนวน 15 คน กินสารสกัดเมล็ดองุ่นเป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่าค่า ALT ลดลงถึง 46%7 อย่างไรก็ตาม การกินเมล็ดองุ่นอาจกินไม่ถนัด สำหรับใครที่ต้องการบำรุงตับด้วยสารสกัดจากเมล็ดองุ่น แนะนำว่าให้เลือกเป็นอาหารเสริมที่มีสารสกัดจากเมล็ดองุ่นจะสะดวกกว่า

4. ผลไม้ตระกูลเบอร์รี

ผลไม้บำรุงตับตระกูลเบอร์รีสีเข้ม อย่าง บลูเบอร์รี ราสเบอร์รี และแครนเบอร์รี จะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่าโพลีฟีนอล (Polyphenols) เป็นสารที่ให้สีในผักผลไม้ ซึ่งอาจมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดความเสียหายต่อตับได้3

5. ถั่ว และพืชตระกูลถั่ว

ถั่วเป็นแหล่งอาหารที่ดีต่อตับ เพราะถั่วมีวิตามินอี กรดไขมันไม่อิ่มตัว และสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคไขมันพอกตับ ลดอาการอักเสบ และต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งงานวิจัยเผยว่า การกินวอลนัทปริมาณ 28 กรัมต่อวัน ควบคู่ไปกับ Mediterranian diet จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไขมันพอกตับได้4

6. ปลาที่มีไขมันดี

การกินปลาที่มีไขมันดี และการกินอาหารเสริมอย่างน้ำมันปลา มีส่วนช่วยในการป้องกัน และลดผลกระทบที่เกิดจากโรคไขมันพอกตับได้ เพราะปลามีส่วนประกอบของโอเมก้า3 ที่เป็นไขมันดี ที่ช่วยลดอาการอักเสบ ป้องกันการเกิดไขมันพอกตับได้ และยังรักษาเอนไซม์ในตับให้อยู่ในระดับดี นอกจากนี้ งานวิจัยยังเผยว่า การกินอาหารเสริมอย่างน้ำมันปลา สามารถลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งตับ ถือเป็นอีกหนึ่งอาหารต้านมะเร็งตับที่น่าสนใจ3

7. ชาเขียว

ชาเขียวมีส่วนช่วยบำรุงตับ เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า แคทีชิน (catechin) ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการป้องกันมะเร็งตับ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยในปี 2020 กล่าวว่าการดื่มชาช่วยลดระดับ Alanine Aminotransferase (ALT) and Aspartate Aminotransferase (AST) ซึ่งค่าเอนไซม์เหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกถึงการบาดเจ็บของตับ อย่างไรก็ตาม ชาเขียวอาจให้ผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคล เพราะชาเขียวจะให้ประโยชน์ในระดับปานกลางกับผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับ แต่กลับเพิ่มค่า ALT และ AST ในผู้ที่ไม่มีภาวะไขมันพอกตับ3

8. น้ำเปล่า

การดื่มน้ำเปล่าเป็นการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน เพราะน้ำจะช่วยให้ร่างกายขับของเสีย และกระตุ้นการไหลเวียนเลือดได้ดี รวมไปถึงเสริมสร้างการทำงานของตับให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงต้องดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวัน หรือดื่มตามน้ำหนักตัว โดยสามารถคำนวณจากสูตร น้ำหนักตัว x 2.2 x 30/2 9

9. สมุนไพรและเครื่องเทศ

สมุนไพรและเครื่องเทศมีส่วนช่วยในการบำรุงตับ อย่าง ออริกาโน โรสแมร์รี่ เสจ ซินามอน ผงกะหรี่ และขมิ้น ที่มีส่วนประกอบอย่างโพลีฟีนอล (Polyphenols) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ ช่วยให้ตับแข็งแรงสุขภาพดี2

อาหารควรเลี่ยง ป้องกันความเสี่ยงโรคตับ

อาหารควรเลี่ยง ป้องกันความเสี่ยงโรคตับ

  • น้ำตาล - เลือกกินอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำตาล หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน เช่น น้ำหวาน ขนมหวาน เป็นต้น เพื่อลดการทำงานของตับ
  • เกลือ - เลี่ยงการกินอาหารที่มีเกลือ หรืออาหารที่เค็ม เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับโซเดียมมากเกินไป ควรเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ และโซเดียมต่ำแทน
  • อาหารที่มีไขมันสูง - อย่างอาหารจำพวกของทอด อาหารจานด่วน หรือขนมกรุบกรอบต่างๆ จะส่งผลให้ตับทำงานมากขึ้น และอาจนำไปสู่โรคตับต่างๆ ในอนาคตได้
  • อาหารจำพวกแป้งและคาร์โบไฮเดรต - ควรกินอาหารจำพวกแป้งและคาร์โบไฮเดรตในระดับที่พอดี และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น พาสต้า เค้ก ขนมปัง เป็นต้น เพราะมีน้ำตาลมาก ไฟเบอร์น้อย และไม่ดีต่อสุขภาพตับ
  • ลดการบริโภคอาหารแปรรูป - อาหารแปรรูป อาหารฟาสฟู้ด อาหารแช่แข็งต่างๆ ที่มีการใส่เกลือ น้ำตาล และน้ำมันในปริมาณที่สูง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคเกี่ยวกับตับ และภาวะไขมันพอกตับได้
  • แอลกอฮอล์ - ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับ และโรคตับแข็งได้

นอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้แล้ว การส่งเสริมสุขภาพตับที่ดีก็สำคัญ โดยการกินอาหารบำรุงตับ ในปริมาณที่เหมาะสม และเพียงพอต่อวัน หรืออาจพิจารณาอาหารเสริมที่มีส่วนช่วยในการดูแลและบำรุงตับ เช่น สารสกัดจากเมล็ดองุ่น บรอกโคลี หรือชะเอมเทศ เป็นต้น3,4

สรุป

ตับเป็นอวัยภายในที่สำคัญ ทำหน้าที่ขับของเสีย และสารพิษออกจากร่างกาย โดยการทำการเปลี่ยนอาหารที่กินเข้าไปเป็นพลังงาน และนำสารอาหารไปบำรุงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และที่สำคัญคือ หากสุขภาพตับดีร่างกายก็จะดีไปด้วย ดังนั้น ตับจึงต้องได้รับการบำรุง โดยคุณสามารถเลือกกินอาหารที่บำรุงตับได้ เช่น ผักผลไม้ อย่าง บรอกโคลี ผลไม้ตระกูลเบอร์รี สารสกัดเมล็ดองุ่น ชะเอมเทศ ถัว ปลา ชาเขียว และสมุนไพรบำรุงตับต่างๆ

ข้อมูลอ้างอิง

  1. newsinhealth. Your Liver Delivers Protect It From Harm. newsinhealth.nih.gov. Retrieved 10 May 2024.

  2. webmd. 14 Best and Worst Foods for Your Liver. webmd.com. Retrieved 10 May 2024.

  3. Jon Johnson. What foods protect the liver? medicalnewstoday.com. Published 24 January 2024. Retrieved 10 May 2024.

  4. Cherilyn Cecchini. 11 Foods That Can Boost and Repair the Liver. goodrx.com. Published 9 January 2024. Retrieved 10 May 2024.

  5. Taylor Jones and Rachael Ajmera. 11 Foods That Are Good for Your Liver. healthline.com. Published 30 October 2023. Retrieved 10 May 2024.

  6. Adda Bjarnadottir. Broccoli 101: Nutrition Facts and Health Benefits. healthline.com. Published 28 February 2023. Retrieved 10 May 2024.

  7. Caroline Hill and MHumNutr. 10 Benefits of Grape Seed Extract, Based on Science. healthline.com. Published 23 October 2023. Retrieved 10 May 2024.

  8. paolohospital. ตับ & ไต…ทำไม? ต้องดูแลให้ดี. paolohospital.com. Retrieved 10 May 2024.

  9. Sikarin. ดื่มน้ำเท่าไรให้พอดี ดีต่อร่างกาย?. sikarin.com. Retrieved 10 May 2024.

shop now