อย่ามองข้ามสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งตับ! มะเร็งอันดับหนึ่ง ที่พบได้ทั้งในผู้ชาย และผู้หญิง และเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดอีกด้วย

โรคมะเร็งตับ คืออะไร

โรคมะเร็งตับ คือ การเกิดขึ้นของเซลล์มะเร็งที่บริเวณตับ โดยอาจจะเกิดขึ้นโดยตรงที่ตับ หรือเกิดจากภาวะลุกลามของเซลล์มะเร็งในส่วนอื่นมายังตับ เซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นที่ตับจะเติบโตขึ้น จนไปรบกวนการทำงานของเซลล์ปกติ ส่งผลให้ส่วนอื่นในร่างกายทำงานหนักมากขึ้น หรือไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ โดยเฉพาะการขัดขวางการทำงานของน้ำดี ที่สร้างขึ้นที่ตับ เพื่อทำหน้าที่ในการย่อยสลายไขมันในอาหารที่กินเข้าไป นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้เลือดสะอาด และช่วยในเรื่องการแข็งตัวของเลือดอีกด้วย1 มะเร็งตับจึงเป็นโรคที่มีความอันตราย โดยมีอัตราการเสียชีวิตถึง 95% ส่วนมากจะพบใน 1/6 ของผู้ชาย และ 1/8 ของผู้หญิง

มะเร็งตับแพร่กระจายได้ไหม?

มะเร็งตับสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นในร่างกายได้ เรียกว่าลักษณะการแพร่กระจายของมะเร็งตับ หรือ Metastasis เช่น มะเร็งตับที่แพร่กระจายไปยังกระดูก ทั้งนี้ ในการรักษามะเร็งแพร่กระจายนี้ แพทย์จะรักษาตามต้นตอของการเกิดมะเร็ง คือ การรักษาแบบมะเร็งตับนั่นเอง1

ประเภทของโรคมะเร็งตับ

มะเร็งตับแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ มะเร็งตับชนิด Primary และ มะเร็งตับชนิด Secondary โดยแบ่งได้ตามต้นตอการเกิดเซลล์มะเร็ง ดังนี้

มะเร็งตับชนิด Primary

มะเร็งตับชนิด Primary เป็นเนื้องอก หรือเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นที่ตับ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่3

  • Hepatocellular Carcinoma (HCC) เป็นเซลล์มะเร็งเซลล์ตับที่เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อตับ เป็นมะเร็งตับชนิดที่พบได้ทั่วไป
  • Cholangiocarcinoma เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณท่อน้ำดีในตับ
  • Angiosarcoma เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณหลอดเลือด ถือเป็นชนิดที่พบได้ยาก และมักจะเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป

มะเร็งตับชนิด Secondary

มะเร็งตับชนิด Secondary เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นที่อวัยวะส่วนอื่นแล้วแพร่กระจายมาสู่ตับ เรียกว่า มะเร็งตับแพร่กระจาย ซึ่งอาจมีต้นตอมาจากเซลล์มะเร็งบริเวณตับอ่อน กระเพาะอาหาร ลำไส้ เต้านม ปอด เป็นต้น5 ซึ่งมะเร็งชนิด Secondary นี้ การรักษาของแพทย์จะรักษาตามชนิดของมะเร็งต้นตอ เช่น หากเป็นมะเร็งปอดลามไปสู่ตับ จะใช้วิธีรักษาแบบมะเร็งปอด เป็นต้น1 

อาการของโรคมะเร็งตับ

ผู้ที่เป็นมะเร็งตับ ในระยะแรกอาจจะยังไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเป็นในระยะที่หนักขึ้น ซึ่งอาการของโรคมะเร็งตับมีดังนี้2

  • น้ำหนักลดลงแบบไม่มีสาเหตุ
  • เบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร
  • มีภาวะอ่อนเพลีย
  • มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ท้องบวมขึ้น
  • มีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณข้างขวาด้านบน บางรายปวดร้าวไปถึงหลัง และไหล่
  • มีก้อนบริเวณตับ
  • ตัวเหลือง และตาเหลือง

 สาเหตุมะเร็งตับ มีอะไรบ้าง

สาเหตุมะเร็งตับ มีอะไรบ้าง

โรคมะเร็งตับเกิดจากสาเหตุหลายประการ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ สามารถพัฒนากลายเป็นโรคมะเร็งตับได้ดังนี้3

  • ภาวะโรคไวรัสตับอักเสบ B หรือ C
  • ภาวะโรคเบาหวาน
  • ไขมันพอกตับ
  • การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
  • ภาวะโรคอ้วน
  • การสูบบุหรี่
  • การได้รับสารเคมีบางชนิด

ลดความเสี่ยงมะเร็งตับได้อย่างไร

มะเร็งตับเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วย โดยเฉพาะการกินอาหาร ที่ก่อให้เกิดไขมันพอกตับในปริมาณมาก หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยง และลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งตับ สามารถเริ่มได้ที่ตัวเองด้วยการดูแลสุขภาพ ดังนี้2

  • เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • เลี่ยงการสูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนัก และไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • พยายามหลีกเลี่ยงการรับสารพิษบางอย่าง เช่น Aflatoxins เป็นต้น 
  • พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไวรัสตับอักเสบบี และซี
  • รักษาโรคที่เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่มะเร็งตับ เช่น โรคเหล็กพอกตับ เป็นต้น
  • การเลือกกินอาหารบำรุงตับ เพื่อบำรุงตับให้แข็งแรง ห่างไกลมะเร็งตับ เช่น บรอกโคลี ชะเอมเทศ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ปลาที่มีไขมันดี และถั่วต่างๆ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ

การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับนั้น แพทย์จะเริ่มจากการวินิจฉัยถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งจากสาเหตุต่างๆ ผู้เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี และซี โดยจะทำการตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน ร่วมกับการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับในเลือด (AFP) ทุกๆ 6 เดือน เป็นการเฝ้าระวังมะเร็งตับ ในกรณีที่พบความผิดปกติจากการตรวจอัลตราซาวนด์แล้ว ขั้นต่อไปจะเป็นการตรวจทางรังสี เพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เมื่อได้ภาพที่ชัดเจน ร่วมกับการวินิจฉัยปัจจัยเสี่ยงแล้ว ก็จะทราบได้ว่าเป็นมะเร็งตับหรือไม่โดยไม่ต้องตรวจชิ้นเนื้อ แต่ถ้าหากบางรายยังไม่ได้ผลการตรวจที่แน่ชัด หรือมีผลทางรังสีแน่ชัดว่าเป็นมะเร็งตับแต่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ก็จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจชิ้นเนื้อต่อไป4

การรักษามะเร็งตับ ทำได้อย่างไร

การรักษามะเร็งตับ แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น สภาวะความรุนแรงของโรค ขนาด และลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะการแพร่กระจายของมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ซึ่งการรักษามะเร็งตับมีวิธีดังนี้2 

  • การผ่าตัด เช่น การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ การผ่าตัดออกบางส่วน เป็นต้น
  • การทำลายเนื้อเยื่อมะเร็งตับ เช่น การรักษาด้วยการใช้ความร้อน การรักษาด้วยการใช้ความเย็น และการรักษาด้วยการใช้แอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • การรักษาด้วยหัตถการทางรังสีวิทยา เช่น การใส่ยาคีโม หรือการใส่สารรังสี เป็นต้น
  • การฉายรังสีภายนอกลำตัว ใช้เทคนิค Stereotactic Body Radiation Therapy
  • การรักษาด้วยยาแบบมุ่งเป้า ได้แก่ Kinase Inhibitor และ Monoclonal Antibodies
  • การรักษาผ่านระบบภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วยเอง ได้แก่ PD-1 and PD-L-1 Inhibitor และ CTLA-4 Inhibitor

สรุป

มะเร็งตับ คือ การเกิดเนื้อร้ายที่บริเวณตับ ทั้งจากการเกิดขึ้นเองในตับ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด หรือการลุกลามมาจากมะเร็งอวัยวะอื่นๆ ซึ่งมะเร็งตับเป็นโรคที่อันตราย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงมีหลายประการ นอกจากจะเกิดจากการมีภาวะไวรัสตับอักเสบ หรือโรคทางกรรมพันธุ์แล้ว จะเห็นว่าสามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นเวลานาน ตลอดจนการมีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป ซึ่งล้วนส่งผลต่อการเกิดมะเร็งตับทั้งสิ้น ดังนั้น การหลีกเลี่ยงมะเร็งตับจึงควรเริ่มที่ตัวเอง ด้วยการดูแลสุขภาพ พยายามลดการกินอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย หรือการกินอาหารที่เสริมสร้างสุขภาพตับ เป็นต้น

ข้อมูลอ้างอิง

  1. American Cancer Society. If You Have Liver Cancer. cancer.org. Published 1 April 2019. Retrieved 9 May 2024.

  2. Bumrungrad International Hospital. มะเร็งตับ. bumrungrad.com. Retrieved 9 May 2024. 

  3. Cancer Council. Liver Cancer. cancer.org.au. Published September 2023. Retrieved 9 May 2024.

  4. Medparkhospital. มะเร็งตับ. medparkhospital.com. Retrieved 9 May 2024. 

  5. Siphhospital. มะเร็งตับ…โรคร้าย อันตรายถึงชีวิต. siphhospital.com. Published 10 April 2024. Retrieved 9 May 2024.

shop now