โคเลสเตอรอลและภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidaemia) เป็นสาเหตุสำคัญของเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การกินอาหารที่มีสารช่วยยับยั้งการออกซิไดซ์ แอลดีแอล โคเลสเตอรอล เช่น ชาเขียว จึงเป็นผลดีในการชะลอการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และลดการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันจากลิ่มเลือดได้
ร่างกายของคนเรามีไขมันในเลือดที่สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่
โคเลสเตอรอล (Cholesterol)
(Cholesterol) เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง เป็นไขมันที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ แต่จะเป็นโทษถ้ามีปริมาณมากไป เนื่องจากไขมันเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เมื่อเกิดการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือด ทำให้อวัยวะเหล่านี้ขาดเลือดไปเลี้ยงจึงเกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงโรคหลอดเลือดส่วนปลาย ระดับโคเลสเตอรอลรวมในเลือดปกติไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
เป็นไขมันที่ร่างกายได้จากการสังเคราะห์อาหารพวกแป้งและน้ำตาล รวมทั้งโปรตีนที่เหลือใช้ ร่วมกับที่ร่างกายสร้างขึ้นที่ตับ ไตรกลีเซอไรด์เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกายซึ่งเก็บสะสมไว้ที่ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง แต่ไขมันชนิดนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสื่อมของหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเช่นกัน ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดปกติไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และหากสูงมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรควบคุมโดยการคุมอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทน้ำตาล และลดการบริโภคแอลกอฮอล์ทุกชนิด
เกณฑ์ในการตัดสินภาวะไขมันในเลือดผิดปกติสำหรับผู้ใหญ่อายุ 20 ปีขึ้นไป
(ที่มา: National Heart, Lung, and Blood Institute ; National Institute of Health ; Department of Heatlh and Human Services , US.)
โคเลสเตอรอลรวม
น้อยกว่า 200 มก./ดล. | อยู่ในเกณฑ์ปกติ |
200-239 มก./ดล. | ค่อนข้างสูง |
240 มก./ดล. ขึ้นไป | สูง |
แอลดีแอล โคเลสเตอรอล (LDL-Cholesterol)
น้อยกว่า 100 มก./ดล. | อยู่ในเกณฑ์ปกติ |
100-129 มก./ดล. | สูงกว่าปกติเล็กน้อย |
130-159 มก./ดล. | ค่อนข้างสูง |
160-189 มก./ดล. | สูง |
190 มก./ดล. ขึ้นไป | สูงมาก |
เอชดีแอล โคเลสเตอรอล (HDL-Cholesterol)
น้อยกว่า 40 มก./ดล. | อยู่ในเกณฑ์ต่ำ เพิ่มปัจจัยเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ |
40-59 มก./ดล. | ปานกลาง หากระดับสูงกว่านี้ได้ สุขภาพจะดีขึ้น |
60 มก./ดล. ขึ้นไป | อยู่ในเกณฑ์สูง ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ |
ไตรกลีเซอไรด์
น้อยกว่า 150 มก./ดล. | อยู่ในเกณฑ์ปกติ |
150-199 มก./ดล. | ค่อนข้างสูง |
200-499 มก./ดล. ขึ้นไป | สูง |
500 มก./ดล. ขึ้นไป | สูงมาก |
สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ เช่น พันธุกรรม โรคหรือยาบางชนิดที่มีผลต่อการสร้างและสลายไขมันในเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไตวาย ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น รวมทั้งการกินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น คาร์โบไฮเดรต น้ำตาลซูโครส ตลอดจนการดื่มสุราและการสูบบุหรี่
ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง เนื่องจากมีส่วนทำให้ตะกรันที่เกาะตัวหนาตามผนังหลอดเลือดเกิดการปริกะเทาะ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกล็ดเลือดที่อยู่ในกระแสเลือดมาเกาะรวมตัวกันในบริเวณตะกรัน ทำให้เกิดการอุดตันอย่างเฉียบพลัน เลือดจึงไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจหรือสมอง
- หากเกิดกับหลอดเลือดหัวใจ เรียกว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน บริเวณกล้ามเนื้อที่ตายมักจะกระตุ้นให้หัวใจเกิดการเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างกะทันหันได้ หรือหากปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายเป็นบริเวณกว้างก็ทำให้หน้าที่ของหัวใจในการสูบฉีดเลือดล้มเหลว ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน
- หากเกิดกับหลอดเลือดสมอง ก็จะทำให้สมองขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน (Stroke) กลายเป็นอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ครึ่งซีก กรณีเกิดการอุดตันในหลอดเลือดขนาดใหญ่ที่ไปเลี้ยงสมอง ถ้าได้รับการแก้ไขไม่ทันก็จะเกิดอัมพาตครึ่งซีกอย่างถาวร
ชาเขียวกับโคเลสเตอรอล
ชาเขียวเป็นแหล่งสำคัญของไฟโตนิวเทรียนท์กลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่มีอยู่มากในชาเขียวคือ แคททิชิน (Catechins) และธีอะฟลาวินส์ สารเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ(Antioxidant) และยับยั้งการออกซิไดซ์ของแอลดีแอล โคเลสเตอรอล (LDL-Cholesterol) ซึ่งส่งผลดีในการชะลอการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และลดการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันจากลิ่มเลือด นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง เพิ่มการเผาผลาญพลังงาน เป็นต้น
ประโยชน์ของสารสกัดชาเขียว
- ลดระดับแอลดีแอล โคเลสเตอรอล ในเลือดโดยเพิ่มตัวรับแอลดีแอลในตับ
- ลดระดับโคเลสเตอรอลรวม โดยลดการดูดซึมไขมันและโคเลสเตอรอลจากทางเดินอาหาร
- เพิ่มเอชดีแอล โคเลสเตอรอล (ไขมันชนิดดี)
สารสำคัญอื่นๆ ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจและสามารถกินร่วมกับสารสกัดจากใบชาเขียวได้ เช่น กระเทียม น้ำมันปลา เลซิติน ใยอาหาร (ควรรับประทานห่างจากน้ำมันปลา/เลซิตินอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันใยอาหารลดการดูดซึม) และโคเอ็นไซม์ คิวเท็น (ถ้าอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือรับประทานยาลดไขมันกลุ่มสเตติน หรือตามแพทย์สั่ง)