อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังกายถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากร่างกายมีการใช้งานกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว เกิดกระบวนการดึงพลังงานออกมาใช้ และเกิดกรดแลคติก (Lactic Acid) ในกล้ามเนื้อ จึงทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า (Muscle Fatigue) แต่บางครั้งเราอาจพบว่ามีอาการบางอย่างผิดปกติ เช่น มีการบาดเจ็บร่วมด้วย หรือปวดเมื่อยจนเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ ลองมาดูกันว่าอาการเหล่านี้เกิดจากอะไร และอาการแบบไหนที่ปกติและแบบไหนไม่ปกติ

ในชีวิตประจำวันของคนเรา กล้ามเนื้อจะปรับตัวให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวัน หากเรามีการใช้พลังงานมาก เช่น ทำงานเกี่ยวกับการการยกของหนักๆ กล้ามเนื้อก็จะแข็งแรงมากตามไปด้วย แต่หากเราไม่ค่อยได้ใช้พลังงาน เช่น นั่งทำงานในออฟฟิศ ร่างกายก็จะปรับสภาพให้กล้ามเนื้อเพียงพอกับการทำงานในออฟฟิศเท่านั้น ดังนั้นเมื่อคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเริ่มหันมาออกกำลังกาย ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้ สาเหตุของอาการต่างๆ มีดังนี้

why-pain-after-exercise-1.jpg

1. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย

ขณะที่ร่างกายของเรามีการเคลื่อนไหว จะเกิดกระบวนการนำเอาพลังงานในกล้ามเนื้อมาใช้ ทำให้เกิดของเสียจากกระบวนการดังกล่าวซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ออกมาเป็นกรดแลคติก (Lactic Acid) กรดนี้จะทำให้เกิดความเมื่อยล้าในกล้ามเนื้อ และจะค่อยๆ สลายไปหลังออกกำลังกาย การยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเคลื่อนไหวช้าๆ หรือคลายกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย จะช่วยให้ร่างกายสลายกรดแลคติกได้ดียิ่งขึ้น การปวดเมื่อยในระดับนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะร่างกายใช้กล้ามเนื้อไม่มากจนเกินความสามารถของร่างกาย

why-pain-after-exercise-2.jpg

2. เจ็บปวดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย

หลายคนที่เริ่มหันมาออกกำลังกายจะพบว่า เมื่อตื่นนอนขึ้นมาในตอนเช้าของอีกวัน ร่างกายจะรู้สึกปวดร้าว โดยเฉพาะส่วนที่ออกกำลังกายไปอย่างหนักเมื่อวาน เช่น รู้สึกเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง (Rectus Abdominis) เนื่องจากเมื่อวานซิทอัพมา หรือเจ็บกล้ามเนื้อหน้าขา (Quadriceps) จนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ เนื่องจากเมื่อวานไปวิ่งมา

ตามกระบวนการของร่างกาย อาการเหล่านี้เกิดจากกล้ามเนื้อเกิดการฉีกขาดในระดับเล็กน้อย และกล้ามเนื้อจะฟื้นฟูสภาพ เพิ่มเส้นใยของกล้ามเนื้อเพื่อ “พัฒนากล้ามเนื้อ” ให้สามารถทำกิจกรรมที่หนักขึ้นได้ในครั้งต่อไป อาการเจ็บปวดแบบนี้มักจะส่งผลให้ไม่สามารถออกกำลังกายได้ในวันต่อๆ มา ซึ่งถือว่าเป็นการบาดเจ็บที่เกิดจากการเคลื่อนไหวที่หนักเกินความสามารถของกล้ามเนื้อ วิธีที่ถูกต้องสำหรับผู้ที่เริ่มหันมาออกกำลังกายคือ ค่อยๆ ออกกำลังกายเบาๆ ก่อนในช่วงแรก และค่อยเพิ่มความหนักขึ้นเมื่อร่างกายเริ่มแคยชินกับความหนักนั้น ซึ่งสังเกตได้จากการไม่รู้สึกล้าหรือเจ็บเมื่อออกกำลังกายในความหนักเท่าเดิมและระยะเวลาเท่าเดิม การค่อยๆ ปรับเพิ่มความหนักจะทำให้กล้ามเนื้อปรับตัวและค่อยๆ พัฒนาให้แข็งแรงมากขึ้น

อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและบาดเจ็บสามารถเกิดได้กับทุกคน การประเมินความสามารถร่างกายของตัวเองก่อนออกกำลังกายจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บได้ คนที่ไม่เคยออกกำลังกายควรออกกำลังกายเบาๆ ก่อนแล้วค่อยเพิ่มความหนักขึ้นในแต่ละวัน ส่วนคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้วก็สามารถออกกำลังกายในระดับที่หนักขึ้นได้ เพราะร่างกายมีการปรับสภาพเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องประเมินตัวเองก่อนออกกำลังกายเสมอ

shop now