ในปัจจุบันนี้ ผู้คนมากมายมีวิถีชีวิตอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจากการทำงาน การพักผ่อนดูซีรีส์และรายการต่างๆ แม้กระทั่งการอ่านหนังสือบางคนก็อ่านบนหน้าจอดิจิทัลเช่นเดียวกัน ทำให้ตาล้า ตาแห้ง ตาแพ้แสง ตาพร่ามัว และอื่นๆ

การได้รับสารอาหารกลุ่มแคโรทีนอยด์และวิตามินบำรุงสายตาอย่างเพียงพอ มีส่วนช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้นได้ บทความนี้ จะพามาทำความรู้จักกันว่าสารอาหารและวิตามินอะไรช่วยบำรุงสายตากันบ้าง

สารอาหารและวิตามินใดบ้างที่ช่วยบำรุงสายตา

สารอาหารและวิตามินใดบ้างที่ช่วยบำรุงสายตา

สารอาหารและวิตามินบำรุงสายตา ร่างกายสามารถได้รับจากการกินอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผักใบเขียว ไข่ แครอท ฟักทอง อะโวคาโด ปลาทะเลน้ำลึก ดอกดาวเรือง มะเขือเทศ และอื่นๆ ซึ่งถ้าหากได้รับไม่เพียงพอหรือไม่ชอบกินอาหารเหล่านี้ การกินอาหารเสริมบำรุงสายตาก็สามารถทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินเช่นกัน

นอกจากนี้ การกินอาหารเสริมควรต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดและอ่านฉลากให้เข้าใจก่อนกิน เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยสารอาหารและวิตามินต่างๆ ที่สามารถช่วยบำรุงสายตาของเราได้ มีดังต่อไปนี้

1. สารในกลุ่มแคโรทีนอยด์

สารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) เป็นสารสีที่พบได้ทั่วไปในพืชผัก ผลไม้ และสิ่งมีชีวิตที่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้ ทำให้มีสีเหลือง สีส้ม และสีแดง ซึ่งสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่พบมากในผักและผลไม้ และมีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา1 มีดังนี้

  • เบตาแคโรทีน (Beta-carotene) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นวิตามิน A ได้ ช่วยในการปกป้องผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลตที่มาจากแสงแดด ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม และป้องกันโรคตาบอดกลางคืน โดยทั่วไปสามารถพบเบตาแคโรทีนได้ในผักและผลไม้ที่มีสีเหลือง สีส้ม และสีเขียวเข้ม เช่น แครอท ฟักทอง มะละกอสุก มะม่วงสุก ผักบุ้ง ตำลึง และ บรอกโคลี2

  • ลูทีน (Lutein) เป็นสารที่พบได้บริเวณเนื้อเยื่อตา และจุดศูนย์กลางของจอประสาทตา ทำหน้าที่ช่วยปกป้องจอประสาทตา ชะลอความเสื่อมของเรตินา ลดความเสี่ยงการเกิดโรคต้อกระจกและโรคจอประสาทตาเสื่อม ปกป้องดวงตาจากแสงแดดและกรองแสงสีน้ำเงินที่เป็นอันตรายต่อดวงตา และเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น ลูทีนพบมากในผักและผลไม้หลายชนิด เช่น ข้าวโพด องุ่น บรอกโคลี คะน้า กีวี และส้ม3 หรือแม้กระทั่งในดอกไม้อย่าง ดอกดาวเรือง

  • ซีแซนทีน (Zeaxanthin) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้บริเวณเนื้อเยื่อตาและจอประสาทตาเช่นเดียวกับลูทีน ช่วยป้องกันรังสีจากแสงแดดและโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายตา เช่น โรคต้อกระจก และโรคจอรับภาพเสื่อม พบมากใน ดอกดาวเรือง ผักโขม ข้าวโพด ส้ม ฟักข้าว พาพรีกา และไข่แดง4

  • ไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถต้านได้มากที่สุดในกลุ่มแคโรทีนอยด์ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและปกป้องเซลล์ที่จะถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ จึงช่วยลดความเสื่อมของเซลล์ลูกตา ปกป้องเยื่อบุตาอักเสบ และบำรุงสายตา ไลโคปีนพบมากในมะเขือเทศ แตงโม ฝรั่งสีชมพู และ เกรพฟรุต สีชมพู เป็นต้น5

2. วิตามิน

สารอาหารประเภทวิตามินต่างๆ ที่มักพบในผักและผลไม้ ก็สามารถช่วยถนอมและบำรุงสายตาเช่นกัน โดยวิตามินบำรุงสายตาที่สำคัญ ได้แก่

  • วิตามิน A เป็นวิตามินที่ช่วยในการทำงานของจอประสาทตา ลดอาการปวดล้าดวงตาจากการใช้งานหนัก และถ้าหากขาดวิตามินชนิดนี้จะทำให้การมองเห็นในที่มืดแย่ลง เกิดภาวะตาแห้งเรื้อรัง หรือกระจกตาเสื่อมได้ โดยวิตามิน A สามารถพบได้มากในฟักทอง มะละกอ มันหวาน คะน้า ผักโขม และแคนตาลูป เป็นต้น

  • วิตามิน B วิตามิน B1 และ B12 จะช่วยชะลอการเกิดต้อกระจก3มักพบได้ในไข่ เนื้อสัตว์ ตับ และนมสด ส่วนวิตามิน B2 ช่วยป้องกันอาการเลือดออกในตา และตาไวต่อแสง พบมากในผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ และธัญพืช6

  • วิตามิน C เป็นวิตามินบำรุงสายตาที่ป้องกันความเสื่อมของเซลล์ ชะลอการเกิดต้อกระจกุ6และเป็นหนึ่งในวิตามินที่ใช้ผลิตคอลลาเจน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของกระจกตาและเยื่อบุตา โดยอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน C ได้แก่ ส้ม ฝรั่ง กะหล่ำปลี ผักโขม บรอกโคลี และพริกชนิดต่างๆ

  • วิตามิน E อีกหนึ่งวิตามินบำรุงสายตาที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันจอประสาทตาเสื่อมและโรคต้อกระจก3 พบวิตามินชนิดนี้ได้ในน้ำมันมะกอก น้ำมันดอกคำฝอย ข้าวโพด ถั่วเหลือง และธัญพืช

3. ซิงก์ (Zinc) หรือแร่ธาตุสังกะสี

ซิงก์ หรือแร่ธาตุสังกะสี เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงจอประสาทตาเสื่อม ป้องกันอาการตาพร่ามัวและตาบอดกลางคืน7 สามารถพบแร่ธาตุนี้ได้ในไข่ เนื้อสัตว์ ตับ ผลิตภัณฑ์จากนม และอาหารทะเลประเภทหอย เช่น หอยนางรม

4. โอเมก้า 3 และกรดไขมัน DHA

โอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีส่วนช่วยระบบต่างๆ ในร่างกาย และหนึ่งในโอเมก้า 3 ที่มีความสำคัญต่อดวงตาก็คือ กรดไขมัน DHA ที่สามารถพบได้ในจอประสาทตา ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงโรคจอประสาทตาเสื่อม ทำให้สายตามีการมองเห็นที่ดีขึ้น และลดอาการตาแห้ง7 สามารถพบได้มากในปลาทะเลน้ำลึกและปลาน้ำจืดที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาสวาย ปลาช่อน และ สาหร่ายทะเลบางชนิด  

การบริโภควิตามินหรืออาหารบำรุงสายตาช่วยอะไรบ้าง

การบริโภควิตามินหรืออาหารบำรุงสายตาช่วยอะไรบ้าง

การใช้งานสายตาอย่างหนักหรือเป็นเวลานานเกินไป ทั้งการทำงานที่ต้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การดูซีรีส์ทั้งคืน เล่นเกมบนหน้าจอ เช็กหุ้น ขับรถนานๆ หรืออยู่กลางแจ้งบ่อยๆ จะส่งผลทำให้ดวงตาเกิดความเสียหายหรือมีอาการต่างๆ ที่สามารถพบเจอได้บ่อยครั้ง เมื่อมีการใช้สายตามากไป เช่น ตาสู้แสงได้ไม่ดี ตาไวต่อแสง ตามองเห็นภาพไม่คมชัด โฟกัสภาพได้ไม่ดี ตาแห้ง แสบตาและระคายเคือง8 การได้รับสารอาหารและวิตามินบำรุงสายตาอย่างเพียงพอจึงมีความสำคัญในการช่วยปกป้องหรือลดอาการเหล่านี้ได้

  • ปรับตาสู้แสง (Light Adaptation)

การได้รับวิตามินบำรุงสายตาอย่างวิตามิน A ซึ่งร่างกายสามารถรับจากการเปลี่ยนเบตาแคโรทีน มีความสำคัญต่อระบบการทำงานของเซลล์รับภาพที่อยู่ในจอประสาทตา ทำให้การปรับสายตาสู้แสงดีขึ้น ช่วยให้การมองเห็นเป็นปกติในที่แสงน้อยหรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของแสงอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น การเปิด-ปิดไฟกระทันหัน9

  • มองเห็นคมชัด (Clear Sharp Vision)

สารลูทีนและซีแซนทีนเป็นสารที่พบได้บริเวณเนื้อเยื่อตา และจุดศูนย์กลางของจอประสาทตา โดยมีงานวิจัยพบว่าการกินลูทีนและซีแซนทีนในอัตราส่วน 5:1 สามารถช่วยเพิ่มความหนาแน่นของสารสีบริเวณจุดภาพชัด ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ตรงกลางของจอตาได้ ทำให้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นในที่แสงจ้าได้ดีขึ้นและมีการมองเห็นที่คมชัด ไม่พร่ามัว10

  • ปรับโฟกัสดี (Visual Focus)

อาการตามัวๆ ปรับโฟกัสได้ไม่ดี เมื่อมีการมองสลับไปมาระหว่างวัตถุที่อยู่ในระยะใกล้และไกล สารไลโคปีนซึ่งเป็นหนึ่งในสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ มีการสะสมอยู่ด้านหน้าของดวงตาในส่วน Ciliary Body จะสามารถช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและปกป้องเซลล์ที่จะถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ ช่วยสร้างสารน้ำในลูกตาและปรับความโค้งของเลนส์ ทำให้การมองภาพสลับไปมาในระยะใกล้และไกลทำได้ดีขึ้น เช่น คนที่ต้องขับรถบ่อยๆ11หรืออ่านหนังสือใกล้ๆ เป็นเวลานานๆ แล้วเงยหน้ามามองสิ่งอื่นกระทันหัน

  • (ปกป้องแสงสีฟ้า) Blue Light Filtering

การใช้สายตาเพ่งหน้าจอเป็นเวลานานๆ ทำให้ได้รับแสงสีฟ้า ซึ่งเป็นคลื่นแสงที่มีพลังงานสูงที่ก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อดวงตา หากปล่อยเอาไว้อาจเกิดการอักเสบที่เยื่อบุตาหรือกระจกตา รวมถึงอาจนำไปสู่โรคทางดวงตาต่างๆ เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคตาล้า โรคต้อกระจก และโรคต้อหิน3ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สายตาเลือนรางและสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด การได้รับสารไลโคปีนจะช่วยลดอาการตาล้าจากการใช้หน้าจอเป็นเวลานานๆ ได้ อีกทั้งการกินลูทีนและซีแซนทีนในอัตราส่วน 5:1 ยังช่วยกรองแสงสีฟ้าไม่ให้มาทำลายดวงตาได้ และช่วยให้สบายตาเวลาใช้หน้าจอดิจิทัลเป็นเวลานานมากเกินไป10

นอกจากการกินอาหารแล้ว ยังมีวิธีใดอีกบ้างที่ช่วยถนอมสายตา?

นอกจากการกินอาหารแล้ว ยังมีวิธีใดอีกบ้างที่ช่วยถนอมสายตา?

นอกจากการกินอาหารที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อดวงตาและวิตามินบำรุงสายตาแล้ว การดื่มน้ำ การพักผ่อน และการหมั่นตรวจสายตา เมื่อทำเป็นประจำแล้วจะสามารถช่วยถนอมสายตาได้อีกทางหนึ่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ดื่มน้ำเป็นประจำ

ดื่มน้ำแบบจิบๆ บ่อยๆ ตลอดทั้งวัน ร่างกายจะดูดซึมน้ำได้ดี และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตาและลดอาการตาแห้ง ตาแดง และเปลือกตาบวมช้ำได้ หรือจะใช้น้ำตาเทียมเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยก็ได้เช่นกัน13

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

หลังจากการใช้สายตาอย่างหนักเป็นเวลานาน การนอนพักผ่อนให้เพียงพอจะทำให้ดวงตาได้พักเพื่อคลายความเมื่อยล้า ช่วยให้การมองเห็นชัดเจนขึ้นและดวงตาสดใสขึ้น14

  • หมั่นตรวจสายตา

หากยังไม่เกิดความผิดปกติขึ้นจนรู้สึกหรือสังเกตเห็นได้ หลายคนคงจะไม่ได้ไปตรวจสายตากันสักเท่าไหร่ แต่การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปีโดยจักษุแพทย์นั้นจะทำให้รู้ถึงสุขภาพตาและความผิดปกติต่างๆ เมื่อเจอสิ่งผิดปกติเร็วก็จะสามารถรักษาได้ทันเวลา เช่น โรคต้อหินเฉียบพลัน15

พฤติกรรมแบบไหนที่ทำร้ายดวงตา

พฤติกรรมแบบไหนที่ทำร้ายดวงตา

พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันส่งผลต่อสายตาของเรามากเลยทีเดียว ถ้าหากต้องการป้องกันอาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับดวงตา การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยถนอมสายตาได้

  • จ้องหน้าจอดิจิทัลเป็นเวลานาน เช่น หน้าจอคอมพิวเตอร์ และหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพเลนส์ตาและจอประสาทตา การเพ่งจอมากๆ จะทำให้ตาแห้งและกล้ามเนื้อรอบดวงตาเกิดอาการล้าอีกด้วย10

  • ปล่อยให้ดวงตาเผชิญกับแสงแดด โดยไม่สวมแว่นกันแดด ทำให้ดวงตาของเราต้องเจอกับรังสียูวีโดยตรง และเกิดต้อลมหรือต้อเนื้อได้12

  • ชอบดื่มแอลกอฮอล์ หรือชอบสูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อม ม่านตาอักเสบ และโรคตาแห้ง7

  • กินอาหารไม่มีประโยชน์ ไม่ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะไม่กินผักและผลไม้ ทำให้ร่างกายขาดวิตามินและแร่ธาตุสำคัญที่จะช่วยดูแลซ่อมแซมและบำรุงสายตา

  • การขยี้ตา เป็นการทำลายเส้นเลือดเล็กๆ ใต้ผิวหนังรอบดวงตา

สรุป

การใช้สายตามากๆ ทำให้มีผลเสียต่อดวงตาตามมาจนอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้ การหมั่นถนอมและบำรุงสายตาจะช่วยให้ดวงตาทำงานได้เป็นปกติ มองเห็นภาพคมชัด ลดอาการตาแห้งและระคายเคือง ปกป้องและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก และอื่นๆ การได้รับสารอาหารที่จำเป็นและวิตามินบำรุงสายตา โดยเฉพาะเบตาแคโรทีน ลูทีน ซีแซนทีน ไลโคปีน และวิตามิน A จะช่วยให้สุขภาพดวงตาแข็งแรงและลดอาการที่เกิดจากการใช้งานดวงตาเป็นเวลานาน แต่ถ้าหากไม่ค่อยได้กินอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้อยู่ การกินอาหารเสริมบำรุงสายตาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ร่างกายได้รับอย่างเพียงพอ

ข้อมูลอ้างอิง
  1. Oregon State University, Originally written in 2004 by Jane Higdon, Ph.D. Linus Pauling Institute, Updated in July 2016 by Barbara Delage, Ph.D. Linus Pauling Institute Oregon State University, Carotenoids, Reviewed in August 2016 by Elizabeth J. Johnson, Ph.DResearch Scientist Antioxidants Research Laboratory, Jean Mayer USDA Human Nutrition Research Center on Aging Assistant Professor, Friedman School of Nutrition Science Tufts University, Retrieved on 6 Feb 2023.
  2. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ประโยชน์ยิ่งใหญ่ของบีตาแคโรทีนในผักและผลไม้, Published 19 November 2021, Retrieved on Feb 2023.
  3. Thanaphat Chaovisitsaree,M.D. Optic nervous system and cataract, Sriphat Medical Center - Faculty of Medicine - Chiang Mai University. สารอาหารสำคัญช่วยป้องกันและบำรุงดวงตา. Document number: PI-IMC-352-R-00. Published 25 February 2021, Retrieved on Feb 2023.
  4. Natural Medicines Comprehensive Database Consumer Version. ZEAXANTHIN: Overview, Uses, Side Effects, Precautions, Interactions, Dosing and Reviews. Retrieved on Feb 2023.
  5. Suresh Kumar Gupta 1, Deepa Trivedi, Sushma Srivastava, Sujata Joshi, Nabanita Halder, Shambhu D Verma. Lycopene attenuates oxidative stress induced experimental cataract development: an in vitro and in vivo study. PMID: 12921892 DOI: 10.1016/s0899-9007(03)00140-0. PubMed (nih.gov). Retrieved Feb 2023.
  6. โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน. วิตามินบำรุงตา ป้องกันตาเสื่อมสภาพ. Published 28 February 2021, Retrieved on Feb 2023.
  7. National Eye Institute, Age-Related Macular Degeneration (AMD), Last updated: June 22, 2021, Retrieved on 8 Feb 2023
  8. Porcar, E.; Pons, A. M.; Lorente, A. (2016). Visual and ocular effects from the use of flat-panel displays. International Journal of Ophthalmology. Retrieved Feb 2023.
  9. WHO. Global prevalence of night blindness and number of individuals affected in populations of countries at risk of vitamin A deficiency. Retrieved 31 Jan 2023.
  10. Joan E. Roberts and Jessica Dennison. The Photobiology of Lutein and Zeaxanthin in the Eye. Articles Published online 2015 Dec 20. doi: 10.1155/2015/687173. Retrieved on 3 Feb 2023.
  11. Alina Petre, MS, RD (NL). Lycopene: Health Benefits and Top Food Sources. Healthline. Last updated on October 3, 2018. Retrieved on 3 Feb 2023
  12. Jason C. S. Yam & Alvin K. H. Kwok, Ultraviolet light and ocular diseases, International Ophthalmology, Published: 31 May 2013, Retrieved 8 Feb 2023.
  13. American Optometric Association. Dry eye. Retrieved Feb 2023.
  14. โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน. ถนอมสุขภาพตาสำหรับวัยทำงาน. Published 30 July 2021, Retrieved on Feb 2023.
  15. โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน. หมั่นตรวจเช็คความพร้อมของดวงตา...เพื่อการขับขี่อย่างปลอดภัย. Retrieved on Feb 2023.
shop now