โรคโลหิตจางเป็นปัญหาสุขภาพที่มีคนเป็นกันมาก แต่เพศหญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากต้องอยู่ในภาวะเสียเลือดจากการมีรอบเดือนหรือการคลอดบุตร จึงจำเป็นต้องเสริมธาตุเหล็กเพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาทดแทนได้อย่างเพียงพอ เม็ดเลือดมีความสำคัญต่อร่างกายมากเพราะช่วยในการขนส่งออกซิเจนไปยังอวัยวะต่างๆ เพื่อให้เซลล์ใช้ในกระบวนการสร้างพลังงาน
หน้าที่สำคัญของธาตุเหล็กเกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดเลือด โดยเป็นส่วนประกอบของฮีมเพื่อนำไปสังเคราะห์ฮีโมโกลบิน ถ้าร่างกายขาดเหล็กก็จะสร้างฮีโมโกลบินได้น้อยลง และส่งผลให้สร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยลงไปด้วย
นอกจากโรคโลหิตจางแล้ว ผู้ที่ขาดธาตุเหล็ก อาจมีสภาวะอื่นๆ อีก อาทิ
- ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เฉื่อยชามากขึ้น
- ความทนทานต่ออากาศหนาวลดลง
- พฤติกรรมในการรับประทานอาหารแปลกไปจากเดิม
- ภูมิคุ้มกันลดลง เจ็บป่วยบ่อยขึ้น
- หญิงมีครรภ์ที่ขาดเหล็กจะแท้งบุตรได้ง่าย
ความต้องการธาตุเหล็กของร่างกาย
ปริมาณความต้องการธาตุเหล็กขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ อาทิ การสูญเสียเหล็กจากร่างกาย สภาวะการเจริญเติบโต และพัฒนาการของร่างกาย โดยพบว่าเพศหญิงจะมีการสูญเสียเหล็กจากร่างกายได้สูงกว่าเพศชาย เนื่องจากเพศหญิงมีการสูญเสียเลือดระหว่างการมีประจำเดือนในช่วงวัยเจริญพันธุ์ สตรีตั้งครรภ์ที่มีความต้องการธาตุเหล็กเพื่อการพัฒนาของทารกที่อยู่ในครรภ์ หรือในระยะให้นมบุตรก็จะสูญเสียเหล็กออกทางน้ำนมทำให้มีความต้องการปริมาณเหล็กเพิ่มมากขึ้น
แหล่งอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก
- เนื้อสัตว์ (ตับ หอยนางรม)
- เครื่องในสัตว์
- ไข่แดง
- ผักใบเขียวต่างๆ
- ขนมปังและธัญพืช
- อัลฟัลฟา ประกอบด้วยไฟโตแฟคเตอร์ เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี 5 ชนิด วิตามินซี วิตามินอี แร่ธาตุ 10 ชนิด
- ผักขม หรือสปิแนช ประกอบด้วยไฟโตแฟคเตอร์ ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี 5 ชนิด แร่ธาตุ 10 ชนิด
ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายได้รับธาตุเหล็กลดลง
- รับประทานอาหารที่มีปริมาณเหล็กไม่เพียงพอ
- ภาวะการดูดซึมสารอาหารที่ผิดปกติ
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ไดฟินีลไฮแดนโตอินในกลุ่มยาต้านชัก เมโทรทรีเซทในกลุ่มยารักษาโรคปวดข้อ เป็นต้น
- ภาวะตั้งครรภ์และให้นมบุตร
- การสูญเสียเลือดจากประจำเดือน การคลอดบุตร การผ่าตัดหรือการบาดเจ็บ
- ภาวะโลหิตจางจากการขาดเหล็ก และเม็ดเลือดแดงแตกง่าย (Hemolytic anemia)
โฟเลต คืออะไร
“โฟเลต” หรือกรดโฟลิค เป็นสารอาหารจำเป็นต่อดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ (สารพันธุกรรม) ของเซลล์เม็ดเลือดซึ่งต้องได้รับโดยการรับประทานเท่านั้น โฟเลตเกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคโลหิตจางประเภทหนึ่งที่เรียกว่า เมกะโลบลาสติก แอนีเมีย นอกจากนั้น หากร่างกายขาดโฟเลตอาจทำให้เกิดอาการหรือโรคต่างๆ ได้ เช่น หลอดประสาทไม่ปิดของทารกในครรภ์มารดา (Neural tube defect) ความผิดปกติของเพดานปาก หัวใจและแขนขาบกพร่องแต่กำเนิด โรคหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะภาวะตีบตันของหลอดเลือดแดง ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะเส้นเลือดสมองอุดตัน เป็นต้น
แหล่งอาหารที่อุดมด้วยโฟเลต
พบมากในอาหารประเภทผัก ผลไม้ ถั่ว ไข่ ธัญพืช โดยปกติในอาหารที่เรารับประทานจะมีโฟเลตไม่น้อยกว่า 100 ไมโครกรัมต่อวัน แต่ก็สามารถสูญเสียไปได้โดยง่ายเพราะเป็นวิตามินที่สลายง่ายเมื่อผ่านความร้อนในขั้นตอนการเตรียมและปรุงอาหาร หลังจากได้รับโฟเลตแล้ว ร่างกายจะเก็บโฟเลตส่วนใหญ่ไว้ที่ตับ หากรับประทานอาหารที่มีโฟเลตไม่เพียงพอเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้ขาดโฟเลตและร่างกายจะมีความต้องการปริมาณโฟเลตเพิ่มมากขึ้น
ปริมาณความต้องการโฟเลต
ร่างกายมีความต้องการโฟเลตมากกว่าวิตามินบี 12 ถึง 50 เท่า ในบางสภาวะปริมาณความต้องการโฟเลตของร่างกายจะเพิ่มขึ้น เช่น ผู้หญิงที่มีครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด ผู้ที่รับประทานอาหารที่ประกอบด้วยสารอนุมูลอิสระปริมาณมากซึ่งจะส่งผลทำลายโฟเลตในร่างกายมากขึ้น ภาวะโลหิตจางจากการขาดโฟเลตเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 2 ของโรคโลหิตจางรองจากการขาดธาตุเหล็ก