โรสแมรี สมุนไพรมากสรรพคุณ นอกจากจะใช้เพิ่มกลิ่นหอมให้จานอาหารแล้ว ยังอุดมไปด้วยไฟโตนิวเทรียนท์ โรสมาริดิฟีนอล ช่วยป้องกันการทำลายเซลล์จากอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้

โรสแมรี คืออะไร?

โรสแมรี สมุนไพรที่หลายคนคุ้นเคย ลักษณะของใบโรสแมรีเป็นรูปแถบ ปลายแหลม สีของใบสีเขียวสดหรืออาจจะเป็นสีเขียวอมเทา มีก้านใบสั้น เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน จึงนิยมปลูกไว้เป็นพืชสวนครัวเพื่อใช้ในการประกอบอาหารต่างๆ และยังนิยมนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้อีกด้วย

9 สรรพคุณของโรสแมรี

โรสแมรี มักถูกนำมาใช้ในการประกอบอาหาร เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว แถมยังมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพอีกหลายประการ ดังนี้

1. ช่วยบำรุงระบบความจำ

การสูดดมน้ำมันหอมระเหยสกัดจากโรสแมรีส่งผลต่อการทำงานของสมองในส่วนของการคิดวิเคราะห์รวมไปถึงการบำรุงระบบความจำด้วย จากการศึกษาพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรีช่วยป้องกันการสลายของสารแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ที่เป็นสารสำคัญที่ช่วยเรื่องการจดจำ ระบบความคิด-ความจำของสมอง1

นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยที่พบว่ากรดโรสมารินิก (Rosmarinic Acid) และกรดคาร์โนซิค (Carnosic Acid) ในโรสแมรี เป็นสารสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างและพัฒนาการเรียนรู้ของสมองได้อีกด้วย2

2. ช่วยบรรเทาภาวะซึมเศร้า

ฮอร์โมนคอร์ติซอลเป็นสาเหตุสำคัญที่จะนำไปสู่อาการเครียดและนอนไม่หลับ ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะการรบกวนประสิทธิภาพของการนอนหลับนั้น ยิ่งทำให้ร่างกายทำงานไม่ปกติ อารมณ์แปรปรวน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นภาวะซึมเศร้า

งานวิจัยพบว่าการกินอาหารเสริมจากโรสแมรี วันละ 1,000 มิลลิกรัม ระยะเวลา 1 เดือน พบว่าระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือดลดลง มีส่วนในการบรรเทาอาการซึมเศร้า และยังช่วยให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย1

3. ช่วยลดความเครียดและความกังวล

หากต้องการลดความเครียดและวิตกกังวลสามารถใช้น้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรีในการบรรเทาอาการได้ เนื่องจากโรสแมรีมีส่วนช่วยในการลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือด3 ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวล การสูดดมกลิ่นน้ำมันที่สกัดจากโรสแมรี จึงช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้นได้

4. มีสารต้านอนุมูลอิสระ

โรสแมรีประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ คือกรดคาร์โนซิก และกรดโรสมารินิค ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านสารอนุมูลอิสระอันเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังอย่างโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน

5. ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร

โรสแมรี มีคุณสมบัติช่วยลดอาการเกร็งในกระเพาะอาหาร ที่เป็นสาเหตุของอาการผิดปกติในระบบย่อยอาหารไม่ว่าจะเป็น ท้องอืด หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป

นอกจากนี้ มีงานวิจัยพบว่าโรสแมรียังมีส่วนช่วยในการต่อสู้กับแบคทีเรีย Heliobacter Pylori ที่เป็นตัวการของแผลในกระเพาะอาหารอีกด้วย4

สารสกัดจากโรสแมรี
ต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกัน

6. ช่วยป้องกันระบบประสาท

จากการวิจัยพบว่า กรดคาร์โนซิก ที่มีอยู่ในโรสแมรี ช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นในสมองได้ มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่มีอาการภาวะสมองขาดเลือด หรือที่เรียกว่าโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย4

7. ช่วยแก้ปัญหาผมร่วง

จากการทดลองพบว่าการใช้น้ำมันโรสแมรีนวดบริเวณศีรษะวันละ 2 ครั้ง ระยะเวลา 6 เดือน ส่งผลให้เส้นผมมีความหนาขึ้น และบรรเทาอาการผมร่วงอย่างมีประสิทธิภาพ1 เพราะน้ำมันโรสแมรี มีส่วนช่วยในการยับยั้งเอนไซม์ที่เป็นสาเหตุของรูขุมขนหนังศีรษะเล็กอันเป็นสาเหตุทำให้ผมที่งอกขึ้นใหม่เส้นเล็กและบาง รวมถึงส่งผลให้ผมร่วง

8. ช่วยป้องกันมะเร็ง

ในโรสแมรีมีสารที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระอันเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็ง ได้แก่ กรดคาร์โนซิก และกรดโรสมารินิค จากการศึกษาพบว่าการใช้สารสกัดจากโรสแมรีมีส่วนช่วยในการลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว เซลล์มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคมะเร็งและโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้1 และยังพบว่าโรสแมรีอาจมีประโยชน์ในเชิงการต้านการอักเสบและการเกิดเนื้องอกอีกด้วย4

9. ช่วยป้องกันจอประสาทตาเสื่อม

จากการศึกษาพบว่า กรดคาร์โนซิก ที่พบได้ในโรสแมรี มีส่วนช่วยในการบำรุงสุขภาพตา และสารต้านอนุมูลอิสระในโรสแมรียังมีส่วนช่วยในการชะลอความเสื่อมของจอประสาทตาที่เกิดจากอายุที่มากขึ้นได้อีกด้วย5

ข้อควรรู้! ก่อนกินโรสแมรี

ก่อนกินอาหารเสริมโรสแมรี ควรต้องศึกษาข้อควรระวังเบื้องต้น ดังนี้1

  • แนะนำให้กิน 4-6 กรัมต่อวัน
  • เพื่อความปลอดภัย ควรกินโรสแมรีในรูปแบบอาหารเสริม เพราะเป็นปริมาณที่พอเหมาะไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกาย
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแอสไพรินควรหลีกเลี่ยง เพราะโรสแมรีมีสารเคมีที่คล้ายกับยาแอสไพริน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
  • การใช้น้ำมันโรสแมรีในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดการอาเจียน ผิวหนังผื่นแดง ไวต่อแสงแดด
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่ควรกินสารสกัดจากโรสแมรี เพราะอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้ รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงการทาน้ำมันโรสแมรีบนผิวหนังด้วย เนื่องจากยังไม่มีการพิสูจน์เรื่องความปลอดภัยต่อผู้ตังครรภ์
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรีบริเวณตาหรือผิวหนังที่บอบบาง
  • ควรใช้น้ำมันหอมระเหยในปริมาณน้อยหรือตามฉลากระบุเท่านั้น เพราะน้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรีมีความเข้มข้นมากสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้
  • บางคนอาจจะมีอาการแพ้น้ำมันหอมระเหยโรสแมรีได้ทั้งจากการทาและสูดดม เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ลมพิษ เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการควรรีบไปพบแพทย์ทันที

สารสกัดจากโรสแมรี
ต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกัน

สรุป

โรสแมรีเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณมากมายหลายประการ นอกจากประโยชน์ในด้านการประกอบอาหารแล้ว โรสแมรียังถูกนำมาใช้ในการรักษาและป้องกันโรคต่างๆ เนื่องจากโรสแมรีมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่นการต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บำรุงระบบประสาท เสริมสร้างระบบความจำและการเรียนรู้ เป็นต้น ควรกินโรสแมรีในรูปแบบอาหารเสริมเพื่อให้ได้รับปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย เพราะหากกินในปริมาณที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ข้อมูลอ้างอิง
  1. Pobpad. โรสแมรี สมุนไพรสารพัดประโยชน์ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้. Pobpad.com. Published (no date). Retrieved 20 December 2023.
  2. Mahboobeh Ghasemzadeh Rahbardar and Hossein Hosseinzadeh. herapeutic effects of rosemary (Rosmarinus officinalis L.) and its active constituents on nervous system disorders. ncbi.nlm.nih.gov. Published September 2020. Retrieved 20 December 2023.
  3. Intrepid mental health. 8 Ways That Rosemary Can Improve Your Mental, Emotional, and Physical Well-Being. Intrepidmentalhealth.com. Published (no date). Retrieved 20 December 2023.
  4. Joseph Nordqvist. Everything you need to know about rosemary. Medicalnewstoday.com. Published 8 November 2023. Retrieved 20 December 2023.
  5. Lauren Panoff, MPH, RD . 6 Benefits and Uses of Rosemary Tea. healthline.com. Published 7 November 2019. Retrieved 20 December 2023.
shop now