ไข้หวัดใหญ่ คือโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบมากในช่วงฤดูฝน โดยสามารถเป็นได้ทุกวัย และป้องกันด้วยการกินอาหารเสริมภูมิคุ้มกันที่มีวิตามินซีสูง เพื่อต้านเชื้อไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร มีกี่สายพันธุ์

ไข้หวัดใหญ่ คือ โรคทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ จมูก ลำคอ และปอด โดยโรคนี้มักระบาดอย่างมากในช่วงฤดูฝน และสามารถเป็นได้ทุกวัย สามารถแพร่กระจายได้ง่ายระหว่างผู้คนเมื่อไอหรือจาม โดยอาการของผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีทั้งการเป็นไข้เฉียบพลัน ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย รวมไปถึงอาการเหนื่อยล้า1 ทั้งนี้ ในกรณีที่อาการร้ายแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด ได้แก่ ชนิด A, B, C และ D

  • ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ถูกจำแนกออกเป็นชนิดย่อยทั้ง A(H1N1) และ A(H3N2) ตามการรวมกันของโปรตีนบนพื้นผิวของไวรัส โดยสายพันธุ์ A นั้นสามารถระบาดได้ทั้งปี มีฤทธิ์รุนแรง และระบาดได้เป็นวงกว้าง จึงทำให้เป็นสายพันธุ์ที่อันตรายที่สุด หากได้รับเชื้อจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ หรืออาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียด้วย บางกรณีอาจมีอาการปวดอักเสบรุนแรง เหนื่อยหอบ และอาจรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้2

  • ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ไม่ได้จำแนกออกเป็นชนิดย่อยเหมือนสายพันธุ์ A แต่สามารถแบ่งได้ออกเป็นเชื้อสาย โดยไวรัสสายพันธุ์ชนิด B จะเป็นของเชื้อสาย B/Yamagata หรือ B/Victoria โดยสายพันธุ์นี้เป็นไข้หวัดตามฤดูกาล ระบาดบ่อยในช่วงฤดูหนาว และฤดูฝน ซึ่งสายพันธุ์นี้อาจมีฤทธิ์ที่ไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A แต่ก็อันตรายไม่แพ้กัน หากได้รับเชื้อจะมีอาการเป็นไข้ คัดจมูก และมีน้ำมูกไหล เจ็บคอ หรือน้ำตาไหลจนทำให้ตาแดงได้3

  • ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C มักตรวจพบได้ไม่บ่อย และทำให้เกิดการติดเชื้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่มีความสำคัญในด้านสาธารณสุขมากนัก

  • ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ D มักระบาดในเหล่าสัตว์จำพวกโค หรือกระบือ และยังไม่มีการตรวจพบว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้สามารถติดได้ในคน

อาการของไข้หวัดใหญ่

อาการของไข้หวัดใหญ่

สำหรับอาการที่สามารถสังเกตได้ว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ มีดังนี้

  • มีไข้กะทันหัน

  • ไอแห้ง

  • ปวดศีรษะ

  • ปวดกล้ามเนื้อ และข้อ

  • มีไข้อย่างรุนแรง

  • เจ็บคอ

  • น้ำมูกไหล

นอกจากนี้ เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้

  • เกิดอาการหอบหืดกำเริบ

  • หลอดลมอักเสบ

  • หูอักเสบ

  • โรคหัวใจ

  • โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ

สาเหตุของไข้หวัดใหญ่ เกิดจากอะไร

ไข้หวัดใหญ่เกิดจากที่ร่างกายนั้นได้รับไวรัสประเภท Influenza virus ที่สามารถติดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อทางอากาศ หรือการสัมผัสเชื้อไวรัสที่ติดอยู่บริเวณสิ่งของต่างๆ แล้วนำมือที่ติดเชื้อมาสัมผัสปาก จมูก หรือดวงตา

ทั้งนี้ การติดเชื้อ และการแพร่กระจายของเชื้อก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์ไหนด้วย เพราะบางสายพันธุ์อาจไม่มีผลต่อคน แต่บางสายพันธุ์อาจใช้สัตว์เป็นพาหะเพื่อที่จะนำเชื้อไปสู่คน จึงทำให้บางสายพันธุ์เสี่ยงที่จะแพร่ระบาดในหมู่ปศุสัตว์ และอาจแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปยังกลุ่มเกษตรกรนั่นเอง4

กลุ่มที่เสี่ยงติดไข้หวัดใหญ่

จากการวิจัยพบว่าในทุกๆ ช่วงอายุสามารถมีโอกาสติดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ทั้งหมด1 แต่ถึงอย่างไร ก็มีกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงติดเชื้อมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ดังนี้

  • กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

  • กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

  • สตรีมีครรภ์

  • ผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคทางระบบเผาผลาญ ระบบประสาท ตับ และโรคทางโลหิตวิทยา

  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น HIV เป็นต้น

  • ผู้ป่วยที่ต้องได้รับเคมีบำบัด สเตียรอยด์ หรือผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง

  • เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ และผู้ดูแลที่มีความเสี่ยงสูงจะติดเชื้อไวรัส

วิธีป้องกัน ไม่ให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ การที่ผู้ป่วยจะติดเชื้อได้ง่าย หรือยากนั้นขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักๆ คือความรุนแรง และปริมาณของเชื้อ ประกอบกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนก็มีผลเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามโรคไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ได้จะป้องกันไม่ได้เสียทีเดียว เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้หลายวิธี ดังนี้

ฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนถือเป็นวิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ โดยการฉีดวัคซีนนั้นจะเป็นการฉีดเข้าที่บริเวณกล้ามเนื้อ และใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อป้องกันโรค

ซึ่งการฉีดวัคซีนสามารถฉีดได้ทุกช่วงอายุ โดยกลุ่มที่ควรได้รับการฉีดมีดังนี้

  • กลุ่มเด็กเล็กอายุ 6-23 เดือน

  • กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว

  • สตรีมีครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป หรือหลังคลอดไม่เกิน 4 สัปดาห์

  • บุคคลที่มีความเสี่ยงต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค

  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัม หรือจัดอยู่ในกลุ่มผู้เป็นโรคอ้วน

ทั้งนี้ ก็ยังมีกลุ่มคนที่ไม่ควรฉีดวัคซีนด้วยเช่นเดียวกัน ดังนี้

  • กลุ่มเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน

  • กลุ่มผู้แพ้วัคซีน

  • กลุ่มผู้มีไข้เฉียบพลัน หรือมีโรคประจำตัวที่อาการกำเริบ และไม่สามารถควบคุมได้

กินอาหารที่มีประโยชน์ สร้างภูมิคุ้มกัน

กินอาหารที่มีประโยชน์ สร้างภูมิคุ้มกัน

หากร่างกายมีภูมิคุ้มกันดีก็จะช่วยลดความเสี่ยงการติดไข้หวัดใหญ่ได้ดี และวิธีการเสริมภูมิคุ้มกันที่ดีคือการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จำพวกผัก ผลไม้ ธัญพืช และเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ดังนี้

  • ผักผลไม้ 5 สี ที่มีไฟโตนิวเทรียนท์ และมีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ กำจัดสารพิษ ต้านการอักเสบในการติดเชื้อ และต้านเชื้อไวรัส โดยผัก ผลไม้ 5 สีนั้น ได้แก่ บร็อคโคลี อะเซโรลา เชอร์รีและบลูเบอร์รี ทับทิม ส้ม และกระเทียม

  • ธัญพืช ก็มีส่วนช่วยต้านโรคไข้หวัดใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน โดยธัญพืชที่แนะนำก็อย่างเช่น จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง รวมไปถึงธัญพืชชนิดอื่นๆ ที่ประกอบไปด้วยวิตามินอี และสารต้านอนุมูลอิสระ

  • เนื้อสัตว์ จำพวกที่มีแร่ธาตุอย่างสังกะสี ก็มีส่วนช่วยในระบบภูมิต้านทานด้วย โดยแนะนำให้กินพวกหอยนางรม หอยแมลงภู่ เนื้อปลา หรือเนื้อหมู ก็จะช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น

ควรกินผัก และผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน

ปัจจุบันคนไทยร้อยละ 60 ถือว่ากินผัก และผลไม้ในปริมาณน้อย จึงทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และโรคอ้วนที่เป็นสาเหตุในการเสียชีวิตอันดับต้นๆ เลยทีเดียว โดยตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกควรกินผัก และผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน แต่จากการสำรวจพบว่าคนไทยไม่ถึงร้อยละ 40 ที่กินผัก และผลไม้เพียงพอตามคำแนะนำ ซึ่งในปี 2561 คนไทยกินผัก และผลไม้โดยเฉลี่ย 336.94 ต่อวัน ต่อมาในปี 2562 เพิ่มเป็น 392.21 กรัมต่อวัน จะเห็นได้ว่า แม้จะมีการกินผัก และผลไม้ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ถึงปริมาณที่แนะนำอยู่ดี5

กินอาหารเสริม

สำหรับวิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงก็คือการรับประทานอาหารเสริม โดยจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยควีนแมรีในลอนดอน ได้ยืนยันว่า การรับประทานอาหารเสริมจำพวกวิตามินซี จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไข้หวัด และโรคระบบทางเดินหายใจได้ดีอย่างมาก6

ล้างมือบ่อยๆ

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสวัตถุที่มีเชื้อโรคติดอยู่บริเวณนั้นๆ ดังนั้น การป้องกันอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลอย่างมากก็คือการล้างมือบ่อยๆ โดยแนะนำให้ล้างด้วยสบู่ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค หรือหากไม่สะดวกก็สามารถใช้แอลกอฮอล์ที่มีคุณภาพสูง ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้

ไม่คลุกคลีกับคนเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือใช้ของร่วมกับผู้อื่น

นอกจากการล้างมือบ่อยๆ แล้ว สิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการติดโรคไข้หวัดใหญ่ก็คือ การไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกัน เนื่องจากอาจทำให้ติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงไปในพื้นที่แออัด ที่อากาศไม่ถ่ายเท ก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดียิ่งขึ้น

สรุป

โรคไข้หวัดใหญ่ถือเป็นโรคทางเดินหายใจที่สามารถทำให้เกิดอาการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อย่างไรก็ตาม โรคไข้หวัดใหญ่ก็ยังเป็นเพียงโรคตามฤดูกาล ที่สามารถรักษาและป้องกันได้ด้วยวิธีต่างๆ อย่างการฉีดวัคซีน การทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมไปถึงการรับประทานอาหารเสริมภูมิคุ้มกันที่ประกอบไปด้วยวิตามินซี วิตามินอี สังกะสี และสารต้านอนุมูลอิสระ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดโรคไข้หวัดใหญ่ได้แล้ว

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Centers for Disease Control and Prevention. Key Facts About Influenza (Flu). cdc.gov. Published 24 October 2022. Retreived 13 November 2023.

  2. โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง. ทำอย่างไรเมื่อลูกติดไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A. wattanapat.co.th. Retreived 17 November 2023.

  3. CH9 AIRPORT HOSPITAL. อาการไข้หวัดใหญ่ สายพันธ์ B. ch9airport.com. Retreived 17 November 2023.

  4. POBPAD. ไข้หวัดใหญ่ (Flu, Influenza). pobpad.com. Retreived 13 November 2023.

  5. สยามรัฐออนไลน์. ‘ม.มหิดล’ ชี้อิทธิพลเมือง-การใช้ชีวิต ส่งผลคนไทยกินผัก-ผลไม้เพิ่มขึ้น. siamrath.co.th. Publised 11 July 2023. Retreived 16 November 2023.BBC NEWS ไทย. วิตามินดีอาจช่วยป้องกันหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ได้. bbc.com. Publised 17 February 2017. Retreived 13 November 2023.

shop now