Key Takeaway
|
บางคนเครียดจนนอนไม่หลับ ปวดท้อง กินไม่ได้ หรือกินเยอะกว่าเดิมจนทำให้อ้วนขึ้น รับมือความเครียดได้ด้วยการกินอาหารมีประโยชน์ กินวิตามิน ออกกำลังกาย และปรับความคิด
สังเกตอาการ ‘ความเครียด’
ความเครียดคือภาวะที่กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกายเกิดการหดตัว มีการค้นพบว่าทุกความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การหดตัวของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายควบคู่กันเสมอ1
ความเครียดมีทั้งด้านดีและด้านเสีย โดยความเครียดที่เป็นโทษคือความเครียดที่มากเกินความจำเป็น จนกลายเป็นอุปสรรคและอันตรายต่อชีวิต เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะตึงเครียด จะเตรียมพร้อมสำหรับการ “สู้” หรือ “หนี” (Fight or Flee) เป็นการตอบสนองต่อความเครียดแบบเฉียบพลัน เป็นปฏิกิริยาทางร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่น่ากลัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยสมองจะหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นให้ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้หรือหลบหนีเพื่อความอยู่รอด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจถี่ขึ้น มีการหลั่งฮอร์โมนต่างๆ กล้ามเนื้อเกร็งตัว และเหงื่อออก1
ผลกระทบที่เกิดจากความเครียด
หากเกิดอาการเครียดขึ้นมา อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้ ดังนี้
_Content-03.jpg)
ผลกระทบต่อร่างกาย
- พฤติกรรมการกินผิดปกติ ความเครียดทำให้ระบบประสาทและสมองหลั่งสารเคมีที่กระตุ้นความอยากอาหารหรือทำให้เบื่ออาหาร ทำให้บางคนกินไม่ได้เลย หรือบางคนอาจกินเยอะจนทำให้อ้วนขึ้น10 คนที่ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่อยู่แล้วก็อาจดื่มและสูบมากขึ้นกว่าปกติด้วย2
- เจ็บหน้าอก3 เกิดจากการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenalin) ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดหดตัวและหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ทำให้รู้สึกแน่น อึดอัด หรือเหมือนมีอะไรมากดทับบริเวณหน้าอก11
- หัวใจเต้นเร็ว3 รู้สึกใจสั่น หัวใจเต้นแรง หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ ซึ่งเป็นผลมาจากการหลั่งฮอร์โมนความเครียดที่กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ2
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย3 ความเครียดทำให้ระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic) ทำงานมากขึ้น กล้ามเนื้อจึงปวดเกร็ง รู้สึกปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะบริเวณคอ บ่า ไหล่ และหลัง กล้ามเนื้ออาจเกร็งและแข็ง รวมถึงมีพฤติกรรมนอนกัดฟันโดยไม่รู้ตัว12
- ปวดศีรษะ3 ความเครียดทำให้กล้ามเนื้อรอบศีรษะ ขมับ และท้ายทอยเกิดการเกร็งตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะแบบตึงๆ เหมือนมีอะไรมารัด หรือปวดบริเวณขมับและท้ายทอย13
- นอนหลับยาก3 ความเครียดกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกให้ร่างกายตื่นตัวมากขึ้น เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน จึงทำให้มีปัญหาในการเริ่มต้นนอนหลับ หลับไม่สนิท ตื่นกลางดึก หรือตื่นเช้าเกินไป ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและไม่สดชื่นในตอนกลางวัน2
- อ่อนเพลีย3 ความเครียดทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดภาวะอักเสบในสมองและร่างกาย ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง แม้ว่าจะพักผ่อนเพียงพอแล้วก็ตาม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน13
- มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร3 ความเครียดส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้สมองส่งสัญญาณไปกระตุ้นการหลั่งกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารมากขึ้น รวมถึงทำให้กล้ามเนื้อในทางเดินอาหารหดเกร็งและเคลื่อนไหวผิดปกติ ส่งผลให้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก หรืออาหารไม่ย่อย14
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ3 ความเครียดส่งผลกระทบต่อสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์และการกระตุ้นทางเพศ ทำให้สัญญาณประสาทที่ส่งไปยังอวัยวะเพศลดลง ส่งผลให้ประสบปัญหาความต้องการทางเพศ การแข็งตัวของอวัยวะเพศ หรือความพึงพอใจทางเพศลดลง15
- ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ3 ความเครียดทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง ซึ่งไปกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลดการสร้างและประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อโรค ส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง เจ็บป่วยง่ายกว่าปกติ เป็นหวัดหรือติดเชื้อบ่อยขึ้น
_Content-04.jpg)
ผลกระทบต่อจิตใจ
- รู้สึกเศร้า3 ความเครียดทำให้สมองกระตุ้นคอร์ติซอลในปริมาณสูง ส่งผลให้เซลล์ประสาทในสมองฝ่อและลดจำนวนลง โดยเฉพาะในส่วนที่ควบคุมอารมณ์และความจำ จึงทำให้จิตใจหม่นหมอง ไม่สดชื่น อาจมีความรู้สึกอยากร้องไห้ หรือรู้สึกว่าไม่มีความสุขกับสิ่งต่างๆ รอบตัว แม้แต่กิจกรรมที่เคยชอบทำก็ไม่รู้สึกสนุกอีกต่อไป16
- ซึมเศร้า3 ความเครียดทำให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง เช่น เซโรโทนิน (Serotonin) และโดปามีน (Dopamine) ลดลง ทำให้เกิดอาการเศร้าอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจรู้สึกเบื่อหน่าย หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ เครียดจนนอนไม่หลับ16
- หงุดหงิด รำคาญ3 ความเครียดกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกให้หลั่งฮอร์โมนความเครียด ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูง และกล้ามเนื้อเกร็งตึง ส่งผลให้สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์และความอดทนทำงานผิดปกติ ทำให้รู้สึกฉุนเฉียวง่ายกว่าปกติ อาจแสดงออกมาด้วยการพูดจาเสียงดัง หรือรู้สึกอยากโต้เถียงกับผู้อื่น แม้แต่เรื่องเล็กน้อยก็อาจทำให้รู้สึกขุ่นเคือง17
- วิตกกังวล3 ความเครียดกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกและต่อมหมวกไตให้หลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีน ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะตื่นตัวสูง (Fight-or-Flight) เกิดอาการกระวนกระวาย หรือกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ คิดถึงแต่เรื่องแย่ๆ หรือรู้สึกควบคุมสถานการณ์ไม่ได้18
ความเครียดเกิดจากอะไร?
ความเครียดสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัยรอบตัวเรา ดังนี้
- สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น มลภาวะทางเสียง ทางอากาศ และทางน้ำ รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดและไม่มีความเป็นส่วนตัว ซึ่งทำให้ร่างกายและจิตใจต้องเผชิญกับความกดดันและความไม่สบายใจ
- สภาพแวดล้อมทางสังคม เช่น เศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย หรือปัญหาทางการเงินที่ส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิต รวมถึงความกดดันและการแข่งขันสูงในระบบการศึกษาและการทำงาน1
- พฤติกรรมการกิน เช่น การกินน้ำตาลมากเกินไป ดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ในปริมาณสูง ส่งผลให้ระบบประสาทถูกกระตุ้นมากเกินไป ทำให้นอนไม่หลับและเพิ่มความเครียด นอกจากนี้ พฤติกรรมกินตามอารมณ์หรือกินไม่เป็นเวลายังทำให้ร่างกายและจิตใจเกิดความไม่สมดุลและเครียดสะสม
- ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับผู้อื่น เช่น การมีข้อขัดแย้งเป็นประจำ การทะเลาะเบาะแว้งกับคู่รัก ความไม่เข้าใจกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว หรือการสื่อสารที่ผิดพลาดในที่ทำงาน
- ความสัมพันธ์กับตนเอง เช่น ต้องการเป็นคนที่สมบูรณ์แบบในสายตาผู้อื่น ความขัดแย้งในจิตใจระหว่างสิ่งที่ตัวเองต้องการกับสิ่งที่สังคมหรือคนรอบข้างคาดหวัง หรือความรู้สึกด้อยค่าตัวเองที่ต้องพยายามเอาชนะผู้อื่นอยู่เสมอ1
รับมือกับความเครียดยังไงให้ได้ผล?
ในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายถึง 5,172 คน คิดเป็นอัตรา 7.94 ต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน และมีผู้พยายามฆ่าตัวตายมากถึง 31,110 คน หรือ 47.74 ต่อประชากรแสนคน4 โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี มีอัตราการพยายามฆ่าตัวตายสูงที่สุดถึง 116.8 ต่อประชากรแสนคน และพบเยาวชนที่มีอาการซึมเศร้าสูงถึง 2,200 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่ง ‘ความเครียดสะสม’ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่พฤติกรรมฆ่าตัวตาย5
คำถามคือเราจะรับมือกับความเครียดยังไงให้ได้ผล? แน่นอนว่าการจัดการความเครียดไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะจัดการไม่ได้ มาปรับพฤติกรรมและความคิดกัน!
_Content-05.jpg)
1. กินวิตามินเสริมแก้เครียด
วิตามินกลุ่มแอนติออกซิแดนต์ทั้งหมด ตั้งแต่วิตามินเอ วิตามินบีรวม (B1-3-5-6-12) วิตามินซีและอี รวมถึงสารอาหารอย่างกรดแอมิโนทริปโตเฟน (Tryptophan) และกรดโฟลิก (Folic Acid) ล้วนมีส่วนช่วยให้อารมณ์ดีและลดความเครียดได้6 โดยวิตามินบีรวมแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติเด่นที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- วิตามินบี 1 ช่วยให้สารเซโรโทนินหลั่งเร็วขึ้น บรรเทาซึมเศร้าและวิตกกังวล
- วิตามินบี 3 ช่วยให้ระบบประสาททำงานปกติ
- วิตามินบี 5 ช่วยคลายเครียด
- วิตามินบี 6 สร้างสารต้านซึมเศร้า
- วิตามินบี 12 ลดอาการหงุดหงิด เพิ่มสมาธิ บำรุงประสาท
นอกจากนี้ วิตามินซียังเป็นตัวช่วยสำคัญในการต่อสู้กับความเครียด เนื่องจากร่างกายจะใช้วิตามินซีมากขึ้นเมื่อเกิดความเครียดหรือเจ็บป่วย เพื่อปรับสมดุลร่างกาย ทั้งนี้ วิตามินอียังช่วยนำออกซิเจนเข้าสู่เซลล์ทั่วร่างกาย เสริมประสิทธิภาพการทำงานของวิตามินเอ เมื่อสมองได้รับออกซิเจนเพียงพอ จะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น6
_Content-06.jpg)
2. กินอาหารลดเครียด
- กล้วย อุดมไปด้วยโพแทสเซียมและเกลือแร่ที่ช่วยลดความเครียดได้ดี มีทริปโตเฟนและกรดอะมิโน ที่เป็นสารตั้งต้นของการสร้างสารแห่งความสุข จึงช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น7
- ผักขมและบรอกโคลี เป็นแหล่งของโฟเลท (Folate) วิตามินบี แมกนีเซียม และเกลือแร่ต่างๆ มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาท ช่วยให้จิตใจสงบและลดระดับความเครียดลงได้7
- นมและโยเกิร์ต นอกเหนือจากสารอาหารที่จำเป็นต่อระบบประสาทแล้ว ยังมีทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งช่วยให้จิตใจสงบลงได้ จึงเป็นเหตุผลที่แพทย์มักแนะนำให้ดื่มนมอย่างน้อยวันละแก้วเพื่อสุขภาพที่ดี7
- ปลาทูน่า แซลมอน และปลาน้ำจืด มีโอเมกา 3 ที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งสารอะดรีนาลีน ทั้งยังมีวิตามินบี 6 และบี 12 ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการหลั่งสารแห่งความสุข7
- ถั่วต่างๆ ช่วยลดความเครียดได้ เนื่องจากมีวิตามินบี อี แมกนีเซียม และสังกะสี แต่ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากถั่วมีแคลอรีสูง7
- ผลไม้ตระกูลเบอร์รี อุดมไปด้วยสารแอนติออกซิแดนต์และวิตามินซี ที่มีส่วนช่วยลดความเครียด7
- ส้มและผลไม้รสเปรี้ยว เป็นแหล่งสำคัญของวิตามินซี ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ การได้รับวิตามินซีเพียงพอจึงช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและอาจมีส่วนช่วยในการลดความเครียดได้7
- แอพริคอตแห้ง มีแมกนีเซียมสูง ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ช่วยให้กล้ามเนื้อรู้สึกผ่อนคลายและยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาท7
- อะโวคาโด จัดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินบีสูง ช่วยลดระดับความเครียดได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยบำรุงระบบประสาทและเซลล์สมอง การกินในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยควบคุมปริมาณแคลอรีได้7
- ดาร์กช็อกโกแลต มีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonols) ที่ช่วยลดความดันโลหิตและมีประโยชน์ต่อสมอง อาจส่งผลให้รู้สึกผ่อนคลายและลดความเครียด แต่ควรเลือกดาร์กช็อกโกแลตที่มีปริมาณโกโก้ตั้งแต่ 70% ขึ้นไปเพื่อสุขภาพที่ดี7
3. หมั่นออกกำลังกาย
การออกกำลังกายช่วยลดความเครียด กิจกรรมที่ได้ผลดีต้องเน้นการผ่อนคลายความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ ควบคู่ไปกับการมีสมาธิ และควรทำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 20 นาทีขึ้นไป ตัวอย่างเช่น โยคะและมวยจีน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวช้าๆ พร้อมการกำหนดลมหายใจ ช่วยให้จิตใจสงบและร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) หรือสารแห่งความสุข
รวมถึงการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น วิ่ง เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ที่ช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นและลดความเครียดสะสมได้ นอกจากนี้ การต่อยมวยหรือ Kick Boxing ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการปลดปล่อยอารมณ์และความเครียด8 ในขณะที่การเดินและการฝึกเกร็ง-คลายกล้ามเนื้อร่วมกับการหายใจ ก็เป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายได้เช่นกัน
_Content-07.jpg)
4. นอนหลับให้เพียงพอ
การผ่อนคลายความเครียด ต้องนอนหลับอย่างเพียงพอประมาณ 7 - 9 ชั่วโมงต่อคืน สำหรับผู้ใหญ่จะช่วยฟื้นฟูร่างกายและสมอง เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ปรับสมดุลของฮอร์โมน ลดระดับความเครียดสะสม และส่งผลให้สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การนอนหลับที่มีคุณภาพยังช่วยลดฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ติซอล (Cortisol) และเพิ่มสารเอ็นดอร์ฟิน ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น และมีสมาธิมากขึ้น9
ทั้งยังช่วยฟื้นฟูความจำและลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าและโรคเรื้อรังต่างๆ ที่มีสาเหตุจากความเครียดเรื้อรัง9 ดังนั้น การนอนหลับที่มีคุณภาพและเพียงพอจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการกับความเครียด ช่วยให้ร่างกายและจิตใจพร้อมรับมือกับความท้าทายในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. ทำกิจกรรมที่ชอบ
การดูแลตัวเองเพื่อลดความเครียดเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการหากิจกรรมที่สร้างความผ่อนคลายและความสบายใจให้กับตัวเอง ลองสำรวจความชอบส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการเพลิดเพลินกับภาพยนตร์หรือเสียงเพลง ปลดปล่อยจินตนาการผ่านการวาดภาพ สร้างความกระปรี้กระเปร่าด้วยการออกกำลังกาย การได้พาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ตึงเครียดสักพัก จะช่วยให้จิตใจได้พักและกลับมาเผชิญปัญหาด้วยมุมมองที่สดใสขึ้น2
6. ปรับความคิด
การจัดการความเครียดเริ่มต้นได้ด้วยการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด ฝึกมองโลกในด้านบวกและไม่ยึดติดกับปัญหาใดปัญหาหนึ่งมากเกินไป การวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่สาเหตุหลักก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความกังวลได้ นอกจากนี้ การจัดสมดุลเวลาในการใช้ชีวิตประจำวัน (Work-life Balance) อย่างเหมาะสม โดยแบ่งเวลาให้กับการทำงานและกิจกรรมส่วนตัวที่ชอบ จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและลดความตึงเครียดลงได้ในระยะยาว2
สรุป
ความเครียดส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ โดยอาจแสดงออกในรูปแบบของพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ อาการเจ็บหน้าอก ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ นอนหลับยาก อ่อนเพลีย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ในด้านจิตใจ ความเครียดอาจนำไปสู่ความรู้สึกเศร้า หงุดหงิด วิตกกังวล หรือพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ การผ่อนคลายความเครียดทำได้โดยการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ กินอาหารที่มีประโยชน์และมีวิตามินที่ดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ และปรับมุมมองให้เป็นไปในเชิงบวก