แมกนีเซียม มีประโยชน์ในการสร้างความแข็งแรงของกระดูก และยังช่วยการทำงานของระบบประสาท ระบบหัวใจ และช่วยลดน้ำตาลในเลือดที่อาจก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้อีกด้วย

แมกนีเซียม คืออะไร?

แมกนีเซียม (Magnesium) คือ แร่ธาตุสำคัญอย่างหนึ่งที่จำเป็นต่อการทำงานของหลายส่วนในร่างกายมนุษย์ เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อกระบวนการทำงานของเอนไซม์กว่า 300 ระบบ ทั้งในส่วนของการเสริมสร้าง และซ่อมแซมโครงสร้างกระดูก กล้ามเนื้อ และระบบประสาท อีกทั้งยังสังเคราะห์โปรตีน ควบคุมระดับน้ำตาล และความดันโลหิตอีกด้วย นอกจากนี้ แมกนีเซียมยังจำเป็นต่อการสร้างพลังงานของร่างกาย โดยร่างกายจะได้รับแมกนีเซียมจากการกินอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือยาบางชนิด1,2,3,4

หากร่างกายมีระดับแมกนีเซียมที่ต่ำกว่าปกติ อาจทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร โรคเบาหวาน และอาการผิดปกติอื่นๆ ได้ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หากขาดแมกนีเซียมรุนแรงอาจมีอาการเหน็บชา ชัก เกร็ง หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ และหากกินแมกนีเซียมมากเกินไป อาจทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ หรือท้องอืด นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการไตวาย ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ซึมเศร้า ง่วงซึม หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จนถึงขั้นเสียชีวิตได้5

แมกนีเซียม กับประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย

แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เนื่องจากมีส่วนช่วยให้หลายๆ ระบบของร่างกายให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ และประโยชน์ของแมกนีเซียมที่มีต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์ มีดังต่อไปนี้

เสริมสร้างสุขภาพกระดูกให้แข็งแรง

เนื่องจากแมกนีเซียม 50–60% ของในร่างกายพบได้ในกระดูก จากผลการวิจัยหลายชิ้นมีการวิเคราะห์ว่า การได้รับแมกนีเซียมที่เพียงพอจะช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก ช่วยเพิ่มการเสริมสร้างกระดูก และลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน นอกจากนี้ในทางอ้อมแมกนีเซียมยังช่วยในการควบคุมปริมาณแคลเซียม และวิตามินดีที่เป็นสารอาหารสำคัญสำหรับกระดูก5,6,7

คืนความแข็งแรง
ให้กระดูกและข้อ

ช่วยให้หัวใจทำงานได้อย่างปกติ

จากผลวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของแมกนีเซียมที่มีต่อโรคหลอดเลือดสมอง พบว่าแมกนีเซียมมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบหัวใจ และหลอดเลือด ช่วยลดความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง8,9

ควบคุมโรคเบาหวาน

จากผลวิจัยเรื่องการบริโภคแมกนีเซียมกับโรคเบาหวานพบว่า การกินแมกนีเซียมจะช่วยกระตุ้นการทำงานของอินซูลิน และการตรวจจับกลูโคสในเลือด จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง10 ส่งผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน

บรรเทาความวิตกกังวล

ผลงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ผู้ที่มีระดับแมกนีเซียมต่ำ จะมีภาวะความเครียดสูง ดังนั้นการกินแมกนีเซียมให้เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ จะช่วยลดความเครียด ลดการวิตกกังวล และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าได้5,6

ช่วยเรื่องระบบประสาท

แมกนีเซียมช่วยให้การทำงานของระบบประสาทเป็นไปอย่างปกติ มีหน้าที่ในการส่งกระแสประสาทไปยังสมองและส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ6

บรรเทาอาการต่างๆ ก่อนมีประจำเดือน

การได้รับแมกนีเซียมที่เพียงพอควบคู่กับวิตามินบี 6 จะช่วยบรรเทาอาการผิดปกติต่างๆ ก่อนมีประจำเดือนได้ เช่น อาการบวมน้ำ อาการปวดท้อง อ่อนเพลีย หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ไมเกรน รวมไปถึงอาการผิดปกติของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน5,6,12

กินแมกนีเซียมเท่าไหร่ดี?

โดยปกติปริมาณแมกนีเซียมที่ควรกินในแต่ละช่วงอายุ และเพศ จะแตกต่างกัน ดังนี้

อายุ ชาย (มิลลิกรัม) หญิง (มิลลิกรัม)
แรกเกิด - 6 เดือน 30 30
7 - 12 เดือน 75 75
1 - 3 ปี 80 80
4 - 8 ปี 130 130
9 - 13 ปี 240 240
14 - 18 ปี 410 360
19 - 30 ปี 400 310
31 - 51+ ปี 420 320
สตรีมีครรภ์-ให้นมบุตร - 350

แมกนีเซียม อยู่ในไหนบ้าง?

แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญอย่างยิ่ง สามารถเพิ่มปริมาณแมกนีเซียมให้ร่างกายได้ ด้วยการกินอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง ซึ่งแมกนีเซียมพบได้ในแหล่งอาหารหลายชนิด รวมถึงธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว เมล็ดพืช พืชตระกูลถั่ว ผักและผลไม้หลายชนิด ดังนี้

ถั่วและธัญพืช

อาหารที่มีปริมาณแมกนีเซียมสูง คือถั่วและธัญพืช โดย 1 ออนซ์ (28 กรัม) มีแมกนีเซียม 83 มก. เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดเจีย อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ นมถั่วเหลือง ถั่วแระ เนยถั่ว ฯลฯ13

อะโวคาโด

อะโวคาโด 1 ผล มีแมกนีเซียม 58 มก. เป็นผลไม้ที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ และมีงานวิจัยพบว่า การกินอะโวคาโดสามารถลดอาการอักเสบ เพิ่มระดับคอเลสเตอรอล และเพิ่มความรู้สึกอิ่มหลังมื้ออาหารได้13

เต้าหู้

เต้าหู้เป็นอาหารมังสวิรัติ 3.5 ออนซ์ (100 กรัม) ประกอบด้วยแมกนีเซียม 35 มก. โดยหนึ่งมื้อยังให้โปรตีน 10 กรัม และมีแคลเซียม เหล็ก แมงกานีส ซีลีเนียมในปริมาณเหมาะสม นอกจากนี้งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าการกินเต้าหู้ และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองอื่นๆ สามารถปกป้องเซลล์ที่เยื่อบุหลอดเลือดแดงได้13

กล้วย

กล้วยเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ซึ่งสามารถลดความดันโลหิตได้ และอุดมไปด้วยแมกนีเซียม 37 มก. ในกล้วยลูกใหญ่ 1 ลูก นอกจากนี้กล้วยสุกมีน้ำตาล และคาร์โบไฮเดรตสูงกว่าผลไม้อื่นๆ13

ผักใบเขียว

ผักใบเขียวมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และเต็มไปด้วยแมกนีเซียม อาทิ ผักเคล ผักโขม ผักกะหล่ำปลี หัวผักกาด และผักกาดเขียว ยกตัวอย่างเช่น ผักโขมสุก 1 ถ้วย (180 กรัม) มีแมกนีเซียม 158 มก. ทั้งนี้ผักใบเขียวยังช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหาย และอาจลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดได้13

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแมกนีเซียมมีขายอยู่ทั่วไป เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะขาดแมกนีเซียม หรือต้องการดูแลเรื่องกระดูกและข้อโดยเฉพาะ แนะนำให้กินอาหารเสริมแมกนีเซียมที่มีแคลเซียมและวิตามินดีอยู่ด้วยกัน เพราะจะทำงานควบคู่ได้ได้ดียิ่งขึ้น

แล้ววิตามินแมกนีเซียมควรกินตอนไหน? ทางที่ดีควรกินพร้อมกับมื้ออาหารเพื่อให้ดูดซึมง่าย เว้นแต่จะมีคำแนะนำอื่นจากแพทย์2

คืนความแข็งแรง
ให้กระดูกและข้อ

ยา

แมกนีเซียมเป็นส่วนประกอบหลักของยาระบาย ยาลดกรด ยาแก้ท้องเสีย1 มีทั้งในรูปแบบยาฉีด และยากิน ใช้สำหรับรักษาอาการชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือสำหรับเป็นยาแก้ท้องผูก ยาระบาย ยาลดกรด

แมกนีเซียม กับปฏิกิริยากับยาบางชนิด

ยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับแมกนีเซียม และส่งผลต่อระดับแมกนีเซียมในร่างกายได้ โดยแมกนีเซียมมีผลกับยาบางชนิด ดังนี้

  • ยากลุ่ม Bisphosphonates ที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน
  • ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Tetracyclines ที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อ เช่น Doxycycline, Demeclocycline
  • ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Quinolone ที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อ เช่น Levofloxacin, Ciprofloxacin
  • ยากลุ่ม Diuretics ที่เป็นยาขับปัสสาวะ
  • ยากลุ่ม Proton Pump Inhibitors หรือ PPIs ซึ่งเป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหาร5

สรุป

แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อการทำงานของร่างกายทั้งในเรื่องของกระดูก กล้ามเนื้อ ระบบประสาท และระบบไหลเวียนเลือด ทั้งยังช่วยในเรื่องของการสร้างพลังงาน อีกทั้งยังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยสามารถได้รับจากการกินทั้งจากอาหาร อาหารเสริม และยาบางชนิด ซึ่งควรกินในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ส่งเสริมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายให้ดีเป็นปกติ

ข้อมูลอ้างอิง
  1. National Institutes of Health (NIH) Office of Dietary Supplements (ODS). Magnesium Fact Sheet for Health Professionals. ods.od.nih.gov. Published 2 June 2022. Retrieved 18 November 2023.
  2. Therapeutic Research Faculty . Magnesium - Uses, Side Effects, and More. webmd.com. Published 2020. Retrieved 18 November 2023.
  3. Harvard T.H. Chan School of Public Health. Magnesium. hsph.harvard.edu. Published March 2023. Retrieved 18 November 2023.
  4. Kelli McGrane, MS, RD, Ellen Landes, MS, RDN, CPT. Magnesium Supplements: All You Need to Know. healthline.com. Published 10 February 2023. Retrieved 18 November 2023.
  5. Megan Ware, RDN, L.D.. Why do we need magnesium?. medicalnewstoday.com. Published 25 October 2023. Retrieved 18 November 2023.
  6. Rachael Ajmera, MS, RD, Franziska Spritzler. 12 Evidence-Based Health Benefits of Magnesium. healthline.com. Published 30 October 2023. Retrieved 18 November 2023.
  7. Clara Gasparri, Gabriella Peroni (Biometals: Springer). An update on magnesium and bone health. ncbi.nlm.nih.gov. Published 6 May 2021. Retrieved 18 November 2023.
  8. Andrea Rosanoff, Rebecca B. Costello, and Guy H. Johnson (Nutrients: MDPI). Effectively Prescribing Oral Magnesium Therapy for Hypertension: A Categorized Systematic Review of 49 Clinical Trials. ncbi.nlm.nih.gov. Published 10 January 2021. Retrieved 18 November 2023.
  9. Binghao Zhao, Lei Hu, Yifei Dong, Jingsong Xu, Yiping Wei, Dongliang Yu, Jianjun Xu, and Wenxiong Zhang (Frontiers in Neurology). The Effect of Magnesium Intake on Stroke Incidence: A Systematic Review and Meta-Analysis With Trial Sequential Analysis. ncbi.nlm.nih.gov. Published 7 August 2019. Retrieved 18 November 2023.
  10. Nicola Veronese, Ligia J Dominguez, Damiano Pizzol, Jacopo Demurtas, Lee Smith, Mario Barbagallo (Frontiers in Neurology). Oral Magnesium Supplementation for Treating Glucose Metabolism Parameters in People with or at Risk of Diabetes: A Systematic Review and Meta-Analysis of Double-Blind Randomized Controlled Trials. pubmed.ncbi.nlm.nih.gov. Published 15 November 2021. Retrieved 18 November 2023.
  11. Binghao Zhao, Huan Deng, Bo Li, Lian Chen, Fang Zou, Lei Hu, Yiping Wei, Wenxiong Zhang. Association of magnesium consumption with type 2 diabetes and glucose metabolism: A systematic review and pooled study with trial sequential analysis. ncbi.nlm.nih.gov. Published March 2020. Retrieved 18 November 2023.
  12. Fabio Parazzini, Mirella Di Martino, Paolo Pellegrino. Magnesium in the gynecological practice: a literature review. pubmed.ncbi.nlm.nih.gov. Published 1 February 2017. Retrieved 18 November 2023.
  13. Amy Richter. 10 Magnesium-Rich Foods That Are Super Healthy. healthline.com. Published 2 January 2023. Retrieved 15 January 2024.
shop now