อาการลำไส้อักเสบ อาการที่ใครๆ ก็เป็นได้ ปล่อยไว้อาจเกิดอันตรายถึงขั้นก่อมะเร็ง! แล้วคนเป็นลําไส้อักเสบกินอะไรได้บ้าง? เพื่อสร้างสมดุลลำไส้ (Gut Health) ที่ดี พร้อมส่งเสริมสุขภาพที่สมบูรณ์
ความสำคัญของลำไส้
ลำไส้เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกาย โดยปกติแล้ว อวัยวะในร่างกายจะทำงานจากการสั่งการของสมอง แต่ลำไส้เป็นอวัยวะที่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องอาศัยการสั่งการจากสมอง โดยหน้าที่ของลำไส้คือการลำเลียง ดูดซึม และย่อยอาหาร รวมไปถึงการขับสารพิษออกจากร่างกายด้วย จะเห็นได้ว่า หน้าที่ของลำไส้นั้นสำคัญต่อสุขภาพร่างกายมาก หากลำไส้ผิดปกติ ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายหลายประการ1
ลำไส้กับการลดน้ำหนัก
สุขภาพลำไส้ที่ดีจะส่งผลต่อการลดน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากลำไส้เป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์หลากหลายชนิด โดยปกติจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ จุลินทรีย์ที่ดี และจุลินทรีย์ไม่ดี จุลินทรีย์ที่ดีจะสร้างกรดไขมันสายสั้นหลักๆ 3 ชนิด ได้แก่ แอซิเตต (Acetate) บิวทิเรต (Butyrate) และโพรไพโอเนต (Propionate) ที่มีส่วนช่วยลดการอักเสบในทางเดินอาหาร ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความคุมความอิ่ม และความอยากอาหาร
อีกทั้ง จุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ยังช่วยลดการอักเสบเรื้อรัง ที่ส่งผลต่อระบบเมตาบอลิซึม (Metabolism) แปรปรวน อันเป็นสาเหตุของการสะสมไขมันในช่องท้อง ภาวะดื้ออินซูลิน และระดับน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากนี้ ในคนอ้วนจะมีจุลินทรีย์ที่ไม่ดีในลำไส้ ที่สามารถดึงพลังงานจากอาหารเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าคนผอม ทำให้เกิดภาวะการสะสมพลังงาน และไขมันส่วนเกิน จะเห็นได้ว่า สุขภาพที่ดีของลำไส้ ส่งผลต่อการลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรคลำไส้อักเสบ เกิดจากอะไร?
โรคลำไส้อักเสบ อาจมีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ และการอักเสบที่ลำไส้ ในบางกรณีที่มีอาการเป็นระยะเวลานาน อาจเกิดเป็นอาการลำไส้อักเสบเรื้อรังได้ อย่างไรก็ตาม โรคลำไส้อักเสบเฉียบพลันมีสาเหตุใหญ่ๆ 2 ประการ2ดังนี้
- ลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อ มี 3 สาเหตุ ได้แก่ เกิดจากพิษของแบคทีเรียทำให้ท้องเสีย (Non-invasive) ซึ่งอาจเกิดภาวะช็อกจากการสูญเสียน้ำได้ และแบคทีเรียที่รุกรานทำลายผิว หรือผนังของลำไส้ (Invasive) ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย มีไข้ อุจจาระเป็นมูกเลือดมีกลิ่นเหม็น รวมไปถึงการติดเชื้อไวรัส (Viral Gastroenteritis) พบมากในเด็ก และปัจจุบันพบมากขึ้นในผู้ใหญ่ มีอาการท้องเสีย ปวดตามตัว เป็นต้น
- ลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่ไม่ใช่การติดเชื้อ เกิดจากการกินอาหารที่มีพิษ อาหารที่ย่อยยาก หรือการกินยาผิด ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เป็นต้น
อาการแบบไหนที่เรียกว่า ‘โรคลำไส้อักเสบ’
หลายคนอาจไม่ทราบว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นเข้าข่ายอาการลำไส้อักเสบหรือไม่ ซึ่งสามารถสังเกตอาการต่างๆ ได้ดังนี้2
- ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีมูกเลือด
- ถ่ายบ่อย มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน
- มีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาการปวดเกร็ง
- มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- มีไข้ต่ำๆ (ต่ำกว่า 38 องศาเซลเซียส)
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- ดื่มน้ำได้น้อย
โรคลำไส้อักเสบ หากปล่อยไว้ อันตรายถึงขั้นมะเร็ง!
โรคลำไส้อักเสบเป็นภาวะที่ระบบทางเดินอาหารทำงานไม่ปกติ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุของไวรัส แบคทีเรีย หรือการได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ก็ล้วนส่งผลต่ออาการท้องเสีย มีไข้ หรืออาจมีความรุนแรงขึ้นไปอีกหากปล่อยให้ร่างกายเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน เพราะอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้ในอนาคต5 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคร้ายที่อันตรายถึงชีวิต ทุกคนควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพลำไส้ หรือ Gut Health ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดีในภาพรวม เพราะการสร้างความสมดุลของลำไส้นั้น นอกจากจะป้องกันลำไส้อักเสบแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพในด้านอื่นๆ ดีขึ้นด้วย
ลำไส้อักเสบ กินอะไรได้บ้าง?
การสร้างสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ เป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพของลำไส้ ดังนั้น การเลือกกินอาหารที่จะช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับคนที่ต้องการทราบว่าเป็นลำไส้อักเสบ กินอะไรได้บ้าง? ผู้ป่วยลำไส้อักเสบนั้นต้องกินอาหารประเภทที่ย่อยง่ายอย่างแป้งขัดขาว หรือน้ำตาล เพื่อให้ลำไส้ทำงานน้อย และฟื้นตัวได้เร็ว เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป เต้าหู้ ถั่วเหลือง น้ำหวาน หรือเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่ายอย่างเนื้อปลา เป็นต้น
ลำไส้อักเสบ ห้ามกินอะไร?
อาหารเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ ดังนั้น คนที่เป็นลำไส้อักเสบจึงต้องระมัดระวังในการกินอาหาร สำหรับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้3
- อาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก และผลไม้ต่างๆ เพราะทำให้ลำไส้ทำงานหนัก และฟื้นตัวช้า
- ผลิตภัณฑ์จากนม จะทำให้เกิดอาการท้องเสีย และเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้
- อาหารที่มีไขมันสูง จำพวกของมัน และของทอด เพราะทำให้ท้องเสียได้
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ส่งผลทำให้ท้องเสียได้
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ทำให้ท้องเสีย เพราะคาเฟอีนจะกระตุ้นลำไส้ และทำให้สูญเสียน้ำ
- น้ำอัดลมและโซดา ทำให้ท้องอืด และระบบทางเดินอาหารระคายเคือง
โรคลำไส้อักเสบ ป้องกันได้อย่างไร
โรคลำไส้อักเสบสามารถป้องกันได้ เพราะโดยทั่วไป เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากดูแลความสะอาด เลือกกินอาหาร และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ย่อมป้องกันโรคลำไส้อักเสบได้4
กินอาหารที่มีโพรไบโอติก เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ ทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดี ย่อยอาหารได้ตามปกติ ไม่เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสียได้ง่าย และต่อสู้กับเชื้อโรคที่อาจเข้ามาทำให้เกิดการอักเสบ อาหารที่มีโพรไบโอติก เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว ถั่วเหลืองเทมเป้ กล้วย กีวี แมลงกินได้ เป็นต้น
กินอาหารที่มีพรีไบโอติก พรีไบโอติกเป็นอาหารของจุลินทรีย์ หรือโพรไบโอติกนั่นเอง การกินพรีไบโอติกจึงทำให้จุลินทรีย์ดีมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไมโครไบโอมในลำไส้เกิดความสมดุล อาหารที่มีพรีไบโอติก เช่น แอปริคอต พืชตระกูลถั่ว และผลไม้ตระกูลเบอร์รี เป็นต้น
นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันโรคลำไส้อักเสบได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- กินอาหารที่ปรุงสุก และสะอาด
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ทั้งก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
- ดูแลรักษาความสะอาดของอุปกรณ์ หรือภาชนะที่เกี่ยวกับอาหาร
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน
- ไม่กินอาหารครั้งละมากๆ ควรแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ ประมาณ 5-6 มื้อ
สรุป
ลำไส้เป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยในเรื่องการดูดซึมสารอาหาร เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนต่างๆ ซึ่งการทำงานผิดปกติของลำไส้จะทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบได้ โดยโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อภายในลำไส้ ส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายท้องบ่อย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะสูญเสียน้ำในร่างกายได้ หากเป็นโรคลำไส้อักเสบเป็นระยะเวลานานก็อาจกลายเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
แล้วคนเป็นลำไส้อักเสบกินอะไรได้บ้าง? คนเป็นลำไส้อักเสบต้องเน้นกินอาหารที่ย่อยง่ายอย่างโจ๊ก ข้าวต้ม ซุป เต้าหู้ ถั่วเหลือง น้ำหวาน หรือเนื้อปลา เพื่อให้ลำไส้ทำงานไม่หนักเกินไป และสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้นนั่นเอง