อาการง่วงนอนตลอดเวลา และร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ เกิดจากอะไร? แค่ขี้เกียจหรือป่วยเป็นโรค?

ทำไมถึงง่วงนอนตลอดเวลา?

บางคนอาจเข้าใจว่า การที่ง่วงนอนตลอดเวลา เกิดจากการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึกตื่นเช้า ทำให้ง่วง และเพลียตลอดทั้งวัน แต่แท้จริงแล้ว อาการง่วงเพลีย หรือรู้สึกว่านอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

ขาดสารอาหาร

  • การขาดสารอาหารประเภทโปรตีน1 จะทำให้อ่อนเพลีย และง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากโปรตีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเม็ดเลือดแดง ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  • การขาดวิตามิน แร่ธาตุ โดยเฉพาะวิตามินดี วิตามินบี12 และธาตุเหล็กก็มีผลทำให้เหนื่อยง่าย รู้สึกเหมือนนอนเท่าไหร่ก็ไม่พอได้เช่นกัน 

ภาวะขาดน้ำ

ร่างกายคนเราประกอบไปด้วยน้ำ 50-60% ของน้ำหนักตัว หากร่างกายขาดน้ำ จะส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือด รวมถึงการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ให้รู้สึกเหนื่อยล้า ง่วงนอนตลอดเวลา และอ่อนเพลียมากกว่าปกติ4

กินและนอนไม่เป็นเวลา

การกินและนอนไม่เป็นเวลา เป็นพฤติกรรมส่วนใหญ่ของคนที่นอนดึก ถึงแม้จะนอนชดเชยตอนกลางวันแล้ว แต่เมื่อตื่นนอนก็ยังรู้สึกว่านอนไม่เต็มอิ่ม ไม่สดชื่น ง่วงตลอดเวลา นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอนั่นเป็นเพราะว่านาฬิกาชีวิต ถูกตั้งมาให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนในเวลากลางคืน ซึ่งถ้าหากเราใช้ร่างกายสวนทางกับนาฬิกาชีวิตจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจสูงกว่าคนที่ใช้ชีวิตตามปกติ 

ดังนั้น เราควรตื่นนอนช่วง 05.00-06.00 น. เพราะจะทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) กระตุ้นให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงาน และน้ำตาลในร่างกายก็จะถูกดึงมาใช้เป็นพลังงาน ทำให้เรารู้สึกหิวในช่วง 07.00-08.00 น. เป็นสัญญาณว่าร่างกายกำลังต้องการมื้อเช้า และอีก 4 ชั่วโมงเราก็ต้องกินอีกครั้ง เพราะน้ำตาลในเลือดเริ่มต่ำ และเมื่อถึงช่วง 22.00 น. ร่างกายก็จะเริ่มสร้างเมลาโทนินทำให้รู้สึกง่วงนอน เป็นช่วงเวลาที่ควรพักผ่อนเพื่อซ่อมแซม และเสริมสร้างส่วนต่างๆ ในร่างกายนั่นเอง8

โรคนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับเป็นภาวะที่รู้สึกอ่อนเพลียมาก แต่ไม่สามารถนอนหลับได้ แม้จะพยายามหลับตา แต่สมองก็ไม่หยุดคิดวกวนจนตื่นอยู่ตลอดทั้งคืน และนอนหลับได้ยาก หรือการที่หลับไปเพียง 2-3 ชั่วโมงก็ตื่น แล้วไม่สามารถกลับไปนอนต่อได้ จึงทำให้รู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา และอ่อนเพลียเนื่องจากไม่ได้รับการพักผ่อนเพียงพอ1,2 

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

บางคนมีอาการหยุดหายใจชั่วคราวเป็นระยะเวลาสั้นๆ ในขณะที่นอนหลับ ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อส่วนลิ้นไก่ และเพดานอ่อนหย่อนลงมาปิดกั้นทางเดินหายใจ หรือจากการที่สมองส่วนกลางไม่สามารถส่งสัญญาณให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมการหายใจให้ทำงานได้ปกติ การนอนจึงมีคุณภาพไม่ดี นอนกระสับกระส่ายตลอดคืน การหยุดหายใจขณะหลับจะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนชั่วคราว2 จนถูกกระตุ้นให้ตื่นขึ้นมาเพื่อหายใจ ด้วยเหตุนี้ร่างกายจึงรู้สึกอ่อนเพลีย และง่วงนอนตลอดเวลา

ความเครียด

ความเครียดไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้วย เพราะจะทำให้การนอนหลับไม่มีประสิทธิภาพ ตื่นกลางดึก นอนหลับยาก ฮอร์โมนและร่างกายทำงานไม่ปกติ ส่งผลให้ง่วงนอนตลอดเวลา อ่อนเพลีย ง่วงนอนบ่อยตลอดทั้งวัน1

การใช้ยา

ตัวยาบางชนิดจะมีผลข้างเคียงในการใช้งานด้วยนั่นคือ การที่ทำให้รู้สึกง่วงนอนบ่อยๆ อย่างเช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้ซึมเศร้า ยากล่อมประสาท ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง หากมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาในขณะที่ใช้ยาประเภทนี้ แนะนำให้ขอคำปรึกษาจากเภสัชกร หรือแพทย์2 

วิธีแก้อาการง่วงนอนตลอดเวลา

วิธีแก้อาการง่วงนอนตลอดเวลา

อาการง่วงนอนตลอดเวลานั้นอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการเรียน การทำงาน หรือการใช้ชีวิต ดังนั้นวิธีแก้อาการดังกล่าว อาจทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อเติมพลังงานให้ร่างกาย และปรับสมดุลของระบบต่างๆ ให้กลับมาเป็นปกติ5

ออกไปรับแสงแดดยามเช้า

การออกไปรับแสงแดดยามเช้าช่วง 06.00-08.00 น. จะทำให้เกิดการสังเคราะห์วิตามินดีในชั้นใต้ผิวหนัง6 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปสู่สมอง และกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้สมองเกิดการหลั่งสารเซโรโทนินลดความเครียด และภาวะซึมเศร้าได้ ร่างกายจะตื่นตัว รู้สึกสดชื่นตลอดทั้งวัน ไม่อ่อนเพลีย และไม่รู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา5

กินโปรตีนให้มากขึ้น ในมื้อเช้า

หากกำลังรู้สึกว่าง่วงนอนตลอดเวลา นอนเยอะแค่ไหนก็ยังง่วง นอนเท่าไรก็ไม่พอ ทำอะไรนิดหน่อยก็เพลีย เหนื่อยง่าย ร่างกายอาจกำลังส่งสัญญาณเตือนว่าขาดโปรตีน เนื่องจากโปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อโกรทฮอร์โมนที่จะหลั่งออกมาขณะนอนหลับ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ซึ่งในผู้ใหญ่ ควรได้รับโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ถึงจะเพียงพอ แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ ทำให้เราบริโภคโปรตีนได้ไม่ถึงครึ่งของน้ำหนักตัว จึงแนะนำให้เสริมด้วยอาหารเสริมโปรตีน เพื่อให้ร่างกายมีพลังงาน และลดอาการง่วงนอนตลอดเวลา7

ดื่มน้ำให้เพียงพอ

การดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว เป็นปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกาย โดยเฉพาะน้ำเปล่าอุณหภูมิห้อง เพียงจิบไปเรื่อยๆ ทั้งวันจะทำให้ร่างกายได้ดูดซึมน้ำไปใช้ในระบบไหลเวียนเลือดได้ทันที ช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนในร่างกาย ลดอาการง่วงนอนตลอดเวลาเกิดความรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่าไปตลอดวัน 

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมง จะทำให้รู้สึกสดชื่น และลดอาการง่วงนอนตลอดเวลา ไม่อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หากเป็นคนหลับยาก หรือนอนไม่ค่อยหลับอาจจะต้องสร้างบรรยากาศในการนอน เช่น หาน้ำมันหอมระเหยมาไว้ในห้อง เลิกเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน หรือการดื่มนมอุ่นๆ ก่อนเข้านอน 1-2 ชั่วโมง จะช่วยให้หลับง่ายขึ้น และพักผ่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ5

สรุป

อาการง่วงนอนตลอดเวลาเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นการขาดสารอาหาร การนอนไม่หลับ ความเครียด ภาวะขาดน้ำ การนอนไม่เป็นเวลา การกินยาบางชนิด ซึ่งการง่วงนอนตลอดเวลา และร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย มักมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ร่างกายขาดโปรตีน สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ดังนั้นจึงควรกินโปรตีนให้เพียงพอ เพื่อลดอาการง่วงนอนระหว่างวัน และเติมพลังให้สดชื่น รวมทั้งปรับสมดุลร่างกายให้ทำงานอย่างเป็นปกติ

shop now