เบต้ากลูแคน (Beta Glucan) สารอาหารที่พบได้ในเห็ดหลินจือ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านมะเร็ง บำรุงหัวใจ กระดูก และผิวกาย เสริมความแข็งแรงจากภายในสู่ภายนอก

เบต้ากลูแคน คืออะไร?

เบต้ากลูแคน คือ เส้นใยอาหารชนิดหนึ่งที่สามารถละลายน้ำได้ พบได้ในอาหารประเภทธัญพืช ยีสต์ สาหร่าย และในเห็ดบางชนิด เช่น เห็ดหลินจือ โดยเบต้ากลูแคนประกอบด้วยสารที่มีส่วนช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอล ช่วยป้องกันการอักเสบ ช่วยจัดการระดับน้ำตาลในเลือด และอื่นๆ อีกมากมาย2 นอกจากเบต้ากลูแคนแล้ว ยังมีเส้นใยอาหารแบบละลายน้ำไม่ได้ ซึ่งแตกต่างกัน ดังนี้

  • เส้นใยอาหารที่ละลายน้ำไม่ได้ จะดูดซึมของเหลวในระบบทางเดินอาหารจนพองตัว ทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว และช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้บีบตัวมากขึ้น2
  • เส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี และพองตัวคล้ายเจล ทำให้ลำไส้ดูดซึมอาหารช้าลง จึงทำให้รู้สึกอิ่มนาน2

เบต้ากลูแคน ทำงานอย่างไร?

เนื่องจากเบต้ากลูแคนเป็นเส้นใยประเภทที่สามารถละลายน้ำได้ จึงทำให้ร่างกายดูดซึมอาหารช้าลง และเพิ่มระยะเวลาในการย่อยอาหาร จึงรู้สึกอิ่มนานขึ้น และยังช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลในระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่ดีอีกด้วย

7 อาหารที่มีเบต้ากลูแคน

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเบต้ากลูแคนมักอยู่ในอาหารประเภทธัญพืช ยีสต์ สาหร่าย และเห็ดบางชนิด แต่มาดูกันว่าอาหารใดบ้างที่มีเบต้ากลูแคนในปริมาณสูง ซึ่งจะมีด้วยกันดังนี้

1. เห็ดหลินจือ

เห็ดหลินจือนับว่าเป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่ถูกใช้เป็นยาจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากอุดมไปด้วยเบต้ากลูแคน และสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ช่วยเสริมสร้างการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันและช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับแบคทีเรีย ไวรัส และสารอันตรายอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยบ่งชี้ว่า เบต้ากลูแคนในเห็ดหลินจือช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปได้4

เบต้ากลูแคนต้านไวรัส
เพิ่มภูมิคุ้มกัน

2. สาหร่ายทะเล

สาหร่ายทะเลมีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง และอุดมไปด้วยเบต้ากลูแคน โดยเฉพาะสาหร่ายสีน้ำตาล ซึ่งมีการศึกษาพบว่าเบต้ากลูแคนที่สกัดจากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลนั้น มีส่วนช่วยในการยับยั้งการเติบโตของเนื้องอก และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้นได้4 ยิ่งไปกว่านั้น สาหร่ายทะเลยังเป็นแหล่งของวิตามิน A, C และ E ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และมีส่วนช่วยลดการอักเสบได้อีกด้วย

3. เห็ดหอม

หนึ่งในเห็ดยอดนิยมที่หลายๆ คนชอบนำมาปรุงอาหารอย่างเห็ดหอมก็อุดมไปด้วยเบต้ากลูแคน อีกทั้งยังเป็นแหล่งของวิตามิน B1, B2, B12, C และไนอาซิน (B3) การกินเห็ดหอมเป็นประจำสามารถช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้ และยังพบว่าเห็ดหอมมีส่วนช่วยลดความดันโลหิต และระดับคอเลสเตอรอลอีกด้วย4 ถือได้ว่าเป็นเห็ดที่นำไปปรุงอาหารได้หลากหลาย ช่วยให้อาหารมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ และยังได้สารอาหารที่มีประโยชน์อีกด้วย

4. ข้าวโอ๊ต

ข้าวโอ๊ตอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ตามธรรมชาติ และเป็นหนึ่งในอาหารที่มีเบต้ากลูแคนปริมาณสูง จนมีการศึกษาเกี่ยวกับเบต้ากลูแคนในข้าวโอ๊ตมากมาย โดยจากการศึกษาพบว่า ข้าวโอ๊ตมีส่วนช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอลรวม ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และระดับน้ำตาลในเลือดได้4 โดยข้าวโอ๊ตยังเป็นอาหารที่สามารถนำมาทานได้หลายรูปแบบ ทั้งทานคู่กับนม หรือบดแล้วทำแป้งข้าวโอ๊ตมาใช้ในการทำขนมก็ได้เช่นกัน ข้าวโอ๊ตยังปราศจากกลูเตนตามธรรมชาติ จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่แพ้กลูเตน หรือข้าวสาลีด้วย

5. ขนมปังโฮลวีท

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบขนมปัง ลองเปลี่ยนจากการกินขนมปังขาวธรรมดา มาเป็นขนมปังโฮลวีทแทน เพียงเท่านี้ก็สามารถได้รับเบต้ากลูแคนเพื่อบำรุงสุขภาพได้ง่ายๆ เนื่องจากในข้าวสาลีนั้นมีเบต้ากลูแคนประกอบอยู่ด้วย ซึ่งขนมปังโฮลวีท รวมไปถึงขนมปังโฮลเกรนนั้น ผลิตขึ้นจากการใช้ทุกส่วนของข้าวสาลี ทั้งเมล็ด รำข้าว และจมูกข้าว จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้มีเบต้ากลูแคนในขนมปังโฮลวีทด้วย ในขณะที่ขนมปังขาวจะผ่านการแปรรูป และขัดสี ทำให้มีเส้นใยอาหารน้อยกว่า และมีสารอาหารไม่เท่ากับขนมปังโฮลวีท

6. ขนมปังข้าวไรย์

สำหรับคนไทยอาจไม่คุ้นเคยกับขนมปังไรย์มากนัก เนื่องจากเป็นขนมปังที่ได้รับความนิยมในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย โดยทำมาจากแป้งข้าวไรย์ ทำให้ขนมปังชนิดนี้มีสีน้ำตาลเข้ม เนื้อสัมผัสแน่น และมีรสชาติเข้มข้นกว่าขนมปังทั่วไป และที่สำคัญคืออุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร รวมไปถึงเบต้ากลูแคนด้วย โดยในข้าวไรย์ขนาด 3.5 ออนซ์ประกอบด้วยเบต้ากลูแคน 1.3-2.7 กรัมเลยทีเดียว

7. นิวทริชั่นแนล ยีสต์

นิวทริชั่นแนล ยีสต์ คือ ยีสต์ที่ไม่ทำงานแล้ว มีรสชาติคล้ายกับชีส ซึ่งเป็นเครื่องปรุงที่นิยมใช้กันในกลุ่มวีแกนและมังสวิรัติ เนื่องจากอุดมไปด้วยโปรตีน และวิตามินบี 12 ตามธรรมชาติ เป็นการทดแทนสารอาหารที่พบในผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นหลัก นิวทริชั่นแนล ยีสต์ ยังเป็นแหล่งของสารอาหารที่สำคัญ เช่น วิตามิน B6, B12 และโฟเลต โดยเฉพาะเบต้ากลูแคนที่พบในยีสต์ชนิดนี้ ทั้งนี้ยังมีสรรพคุณในการช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย

7 ประโยชน์ของเบต้ากลูแคน

เบต้ากลูแคนมีประโยชน์ และช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายในหลายๆ ด้าน ดังนี้

1. ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า เบต้ากลูแคนมีความสามารถในการช่วยจัดการ และปรับเปลี่ยนการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน และยังช่วยควบคุมการอักเสบได้ โดยจากการทดลองโดยกลุ่มทดลองที่เป็นนักกีฬาที่ต้องฝึกซ้อมอย่างเป็นประจำ ให้เสริมด้วยสารเบต้ากลูแคนที่สกัดจากเห็ดเป็นเวลา 3 เดือน พบว่ามีเซลล์ภูมิคุ้มกันบางชนิดที่หมุนเวียนอยู่ในร่างกายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกดภูมิคุ้มกันที่เกิดจากความเหนื่อยล้าสะสมจากการออกกำลังกายอีกด้วย7

เบต้ากลูแคนต้านไวรัส
เพิ่มภูมิคุ้มกัน

2. ช่วยควบคุมน้ำหนัก และต้านเบาหวาน

เบต้ากลูแคนมีส่วนช่วยในการต้านโรคเบาหวานได้ เพราะมีการศึกษาเกี่ยวกับเบต้ากลูแคนในข้าวโอ๊ตว่าส่งผลอย่างไรต่อผู้ป่วยเบาหวาน โดยให้ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ได้รับเบต้ากลูแคนจากข้าวโอ๊ต 2.5-3.5 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 3-8 สัปดาห์ พบว่าระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Plasma Glucose) และค่าน้ำตาลเฉลี่ยในเลือด (HbA1c) ลดลง8 จากการทดลองนี้บ่งชี้ได้ว่า การบริโภคเบต้ากลูแคนในระยะเวลา 3-8 สัปดาห์ อาจส่งเสริมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้

3. ช่วยบำรุงกระดูก

โดยปกติแล้ว กระดูกของมนุษย์จะมีทั้งเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) และเซลล์ทำลายกระดูก (Osteoclast) ซึ่งทั้งสองเซลล์นี้จะทำงานร่วมกัน เกิดเป็นวงจรการสร้าง และทำลายกระดูกอย่างสมดุล แต่เมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ก็ส่งผลให้เซลล์สร้างกระดูกน้อยลง ในขณะที่เซลล์ทำลายกระดูกเพิ่มมากขึ้น จนเกิดโรคกระดูกพรุนขึ้นมาได้14 แต่สารอาหารอย่างเบต้ากลูแคนนั้น สามารถควบคุมการสร้างกระดูก และการเปลี่ยนแปลงของกระดูกได้ โดยจากงานวิจัยพบว่า เบต้ากลูแคนมีส่วนช่วยยับยั้งการสร้างเซลล์ทำลายกระดูก จึงช่วยบำรุงให้กระดูกแข็งแรง และสมดุลขึ้นได้9

4. ช่วยลดความดันโลหิต

มีการวิจัยที่บ่งชี้ว่า การบริโภคเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้อย่างเบต้ากลูแคนนั้น ส่งผลต่อความดันโลหิตในร่างกาย โดยจากการศึกษาให้กลุ่มทดลองเสริมใยอาหารที่ละลายน้ำได้ 5 ประเภท หนึ่งในนั้นคือเบต้ากลูแคนจากข้าวโอ๊ต และข้าวบาร์เลย์เป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มทดลองมีความดันโลหิตโดยรวมลดลง ซึ่งการที่มีความดันโลหิตโดยรวมลดลง จะส่งผลดีในแง่ที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือดได้อีกด้วย10

5. ช่วยต้านมะเร็ง

มีการใช้สารสกัดเบต้ากลูแคนกับผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ ซึ่งการกระตุ้นนี้จะทำให้เกิดการตอบสนองของเซลล์ภูมิคุ้มกัน และไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก และการแพร่กระจายของเนื้อร้าย5 จึงช่วยเสริมสร้างสุขภาพของผู้ที่เป็นโรคมะเร็งให้ดีขึ้น นอกจากนี้ มีการทดลองที่ชี้ให้เห็นว่าการให้เบต้ากลูแคนร่วมกับการทำคีโม หรือการฉายรังสีบำบัด ช่วยลดความผิดปกติของภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการรักษาดังกล่าวได้11

6. ช่วยบำรุงหัวใจ

จากการศึกษาพบว่า เบต้ากลูแคนช่วยส่งเสริมสุขภาพของหัวใจ และป้องกันโรคหัวใจได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้การยอมรับว่าเบต้ากลูแคนอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้12 เนื่องจากเบต้ากลูแคนสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลรวม และไขมันไม่ดีในเลือดได้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้คือปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ ยิ่งไปกว่านั้น เบต้ากลูแคนยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถช่วยป้องกันการอักเสบ และภาวะเรื้อรังอย่างโรคหัวใจได้

7. ช่วยบำรุงสุขภาพผิว

เบต้ากลูแคนอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่สามารถช่วยลดการเกิดริ้วรอย และช่วยเสริมสร้างเกราะป้องกันผิวจากรังสี UV อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผิวเสื่อมสภาพ และยังส่งผลดีต่อการรักษาบาดแผล และการคงความชุ่มชื้นของผิวให้คงอยู่อีกด้วย13 จึงมักมีการใช้เบต้ากลูแคนเป็นส่วนประกอบสำคัญในเครื่องสำอาง

ข้อควรรู้! ก่อนกินเบต้ากลูแคน

ควรกินเบต้ากลูแคน หรือเส้นใยที่ละลายน้ำได้อย่างน้อย 3.6 กรัมต่อวัน โดยสามารถกินในรูปแบบของอาหารไขมันต่ำ หรืออาหารเสริม เพื่อบำรุงร่างกายให้ห่างไกลจากโรค ทั้งนี้ ยังไม่มีงานวิจัยที่บ่งบอกว่าการกินเบต้ากลูแคนปริมาณมากจะส่งผลต่อร่างกายอย่างไร แต่การใช้เบต้ากลูแคนทาบนผิวหนัง อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวในบางคน และสตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้สารนี้เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย3

เบต้ากลูแคนต้านไวรัส
เพิ่มภูมิคุ้มกัน

สรุป

เบต้ากลูแคน คือไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ ซึ่งจะพบได้ในเห็ดหลินจือ สาหร่ายทะเล และธัญพืชต่างๆ โดย เบต้ากลูแคน มีสรรพคุณที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านโรคร้ายอย่างมะเร็ง และโรคเบาหวาน บำรุงหัวใจ หลอดเลือด สุขภาพกระดูก และสุขภาพผิว ดังนั้น แนะนำให้กินอย่างน้อย 3.6 กรัมต่อวัน เพื่อการบำรุงร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจกินได้ทั้งในรูปแบบมื้ออาหาร หรือกินในรูปแบบอาหารเสริม เพื่อความสะดวก และเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงได้ในทุกๆ วัน

ข้อมูลอ้างอิง
  1. Jennifer Lefton. What Is Beta-Glucan?. verywellhealth.com. Published 14 September 2022. Retrieved 9 January 2024.
  2. Kathy W. Warwick. What Is Beta Glucan? The Heart-Healthy Fiber Explained. healthline.com. Published 13 July 2023. Retrieved 9 January 2024.
  3. WebMD. Beta-Glucans - Uses, Side Effects, and More. webmd.com. Retrieved 9 January 2024.
  4. Alena Kharlamenko. 8 Foods High in Beta-Glucan for Healthy Cholesterol Levels. livestrong.com. Published 16 October 2023. Retrieved 9 January 2024.
  5. WebMD Editorial Contributors. Health Benefits of Beta Glucan. webmd.com. Published 28 November 2022. Retrieved 9 January 2024.
  6. Michelle Whitmer. Beta Glucan and Mesothelioma. asbestos.com. Published 3 January 2024. Retrieved 9 January 2024.
  7. Manuela Del Cornò, Sandra Gessani and Lucia Conti. Shaping the Innate Immune Response by Dietary Glucans: Any Role in the Control of Cancer?. ncbi.nlm.nih.gov. Published 8 January 2020. Retrieved 10 January 2024.
  8. Xiao Li Shen, Tao Zhao, Yuanzhong Zhou, Xiuquan Shi, Yan Zou, and Guohua Zhao. Effect of Oat β-Glucan Intake on Glycaemic Control and Insulin Sensitivity of Diabetic Patients: A Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials. pubmed.ncbi.nlm.nih.gov. Published 13 January 2016. Retrieved 10 January 2024.
  9. Wataru Ariyoshi, Shiika Hara, Ayaka Koga, Yoshie Nagai-Yoshioka, and Ryota Yamasaki. Biological Effects of β-Glucans on Osteoclastogenesis. ncbi.nlm.nih.gov. Published 1 April 2021. Retrieved 10 January 2024.
  10. K. Khan, E. Jovanovski, H.V.T. Ho, A.C.R. Marques, A. Zurbau, S.B. Mejia, J.L. Sievenpiper and V. Vuksan. The effect of viscous soluble fiber on blood pressure: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. nmcd-journal.com. Published 7 October 2017. Retrieved 10 January 2024.
  11. Laiza Steimbach, Ariela Victoria Borgmann, Gabriella Giandotti Gomar, Lucas Ventura Hoffmann, Renata Rutckeviski, Diancarlos Pereira de Andrade and Fhernanda Ribeiro Smiderle. Fungal beta-glucans as adjuvants for treating cancer patients – A systematic review of clinical trials. sciencedirect.com. Published 28 November 2020. Retrieved 10 January 2024.
  12. Rebecca Mathews, Alison Kamil and YiFang Chu. Global review of heart health claims for oat beta-glucan products. pubmed.ncbi.nlm.nih.gov. Published 1 August 2020. Retrieved 10 January 2024.
  13. Bin Du, Zhaoxiang Bian and Baojun Xu. Skin health promotion effects of natural beta-glucan derived from cereals and microorganisms: a review. pubmed.ncbi.nlm.nih.gov. Published 28 February 2014. Retrieved 10 January 2024.
  14. Theera Tongsong. Osteoporosis in Menopause. med.cmu.ac.th. Published 8 April 2022. Retrieved 10 January 2024.
shop now